วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 05:38 น.
สาหร่ายสะพรั่ง เต็มอ่าวป่าตอง คลื่นซัดเกลื่อนหาด เทศบาลเร่งกำจัดวันละกว่า 20 ตัน
(24 ก.พ.66) นายเฉลิมศักดิ์ มณีศรี นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือการแก้ไขปัญหาสาหร่ายสะพรั่ง (Algae bloom) เกยหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยมี นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองสาธารณสุขเทศบาลเมืองป่าตอง สิ่งแวดล้อมที่ 15 ภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สมาชิกสภาเทศบาลเมืองป่าตอง มูลนิธิพัฒนาป่าตอง ชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง และภาคประชาชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันหารือ ถึงสาเหตุการเกิดปรากฏว่าสาหร่ายสะพรั่ง หรือ Algae bloom ในทะเลหาดป่าตอง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และในระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดภาวะสาหร่ายสะพรั่งในทะเลหาดป่าตองและเกยหาดป่าตองเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 20 ตัน ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้จัดเจ้าหน้าที่วันละกว่า 30 คน ลงไปเก็บกวาดทำความสะอาดนำสาหร่ายออกจากหาด เพราะหากไม่เข้าไปดำเนินการจะส่งกลิ่นเหม็นและขึ้นมาเกลื่อนหาดป่าตอง ทำให้ทัศนียภาพและความสวยงามของหาดป่าตองหายไป พร้อมทั้งขนไปเผายังเตาเผาขยะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเผาเป็นจำนวนมาก
หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ระบุว่า ปัญหาสาหร่ายสะพรั่งในทะเลอ่าวป่าตอง เกิดจากน้ำในคลองปากบาง ที่มีการป่นเปื้อนของสารอาหารไหลลงไปในอ่าวป่าตอง ซึ่งเป็นอ่าวที่มีส่วนว้าวลึกทำให้น้ำไม่มีการหมุนเวียนออกไปด้านนอก เมื่อพบกับแสดงแดดที่พอเหมาะจึงทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตผิดปกติ มีจำนวนมากเกินกว่าที่จะถูกกำจัดโดยธรรมชาติ จึงทำให้เกยหาดป่าตองเป็นจำนวนมากในช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน และเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ไปจนถึงเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง
เพราะจากการวัดคุณภาพน้ำในคลองปากบาง ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 15 พบว่า คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมมาก จากการที่มีน้ำเสียจากสถานประกอบการ ชุมชน ที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงสู่คลองปากบางและไหลลงสู่ทะเลอ่าวป่าตอง โดยเฉพาะสารฟอสเฟต ซึ่งจะสังเกตได้จากในช่วง 2 ปีทีผ่านมา ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยว สถานประกอบการต่างๆ ปิดกิจการ ปัญหาสาหร่ายสะพรั่งไม่ได้เกิดขึ้นในอ่าวป่าตอง แต่เมื่อนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา สถานประกอบการกลับมาเปิดให้บริการ การใช้น้ำเพิ่มขึ้นทำให้เกิดน้ำเสียมากขึ้น ปัญหาสาหร่ายสะพรั่งก็กลับมาอีก
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานั้น จะต้องทำให้คุณภาพน้ำในคลองปากบางมีคุณภาพที่ดีขึ้น ด้วยการไม่ปล่อยน้ำจากครัวเรือน สถานประกอบการ ที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่คลองปากบาง และจะต้องลดสารฟอสเฟตให้มีปริมาณที่ไม่ส่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ ส่วนระยะสั้นนั้นทางเทศบาลจะต้องเร่งกำจัดขยะให้ออกจากหาดป่าตองในทุกๆวันเพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นเหม็นและทำให้ชายหาดไม่สวยงาม
นายเฉลิมศักดิ์ มณีศรี นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะสั้น เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนี้ ทางเทศบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดชายหาดด้วยการนำสาหร่ายออกจากชายหาดในทุกๆวัน และกำลังที่จะจัดจ้างบริษัทเอกชนเข้ามากำจัดสาหร่ายและนำไปฝั่งกลบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสู่เตาเผาขยะ คาดว่าเอกชนจะสามารถเข้ามาดำเนินการได้ในเร็วๆนี้
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ให้เกิดสาหร่ายสะพรั่งในทุกปีช่วงหน้าแล้งนั้น ทางเทศบาลได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำเสียไหลลงคลองปากบาง โดยการรวบรวมน้ำเสียจากครัวเรือน สถานประกอบการ เข้าระบบรวบรวมน้ำเสียให้ครอบคลุมทั้งป่าตอง และเข้าสู่การบำบัดต่อไป เพราะขณะนี้ระบบรวบรวมนำเสียครอบคลุมพื้นที่เพียง 70% เท่านั้น ยังเหลืออีก 30% ที่ไม่มีระบบรวบรวมน้ำเสีย และในส่วนของพื้นที่ที่มีระบบรวบรวมน้ำเสียแล้วที่เป็นเขตชุมชนก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ 100% ยังมีบางครัวเรือนและสถานประกอบที่ยังไม่เข้าสู่ระบบรวบรวมน้ำเสีย ซึ่งเรื่องนี้ทางเทศบาลได้ทำหนังสือแจ้งให้ดำเนินแล้ว หากยังฝ่าฝืนจะทำการปิดท่อระบายน้ำลงสู่คู่คลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเสียเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ทางเทศบาลยังได้ของบประมาณไปยังกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่กะหลิมไปจนถึงซอยควนยาง ประมาณ 100 กว่าล้านบาท
นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาสาหร่ายสะพรั่งในอ่าวป่าตอง น่าจะเกิดจากน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ จากที่ป่าตองมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ปริมาณน้ำเสียจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ปรากฎปัญหาหน่ายสะพรั่ง เพราะนักท่องเที่ยวน้อย สถานประกอบการปิดบริการ ส่วนในระยะสั้นให้เทศบาลดำเนินการว่าจ้างเอกชนเข้ามาจัดเก็บสาหร่ายในทุกๆ วัน และนำไปกำจัด ส่วนระยะยาวนั้นจะต้องจัดการปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ป่าตองให้ลดลงในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม