วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 16:58 น.
ปักกิ่ง, 1 ส.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาเปลือกดาวของดวงจันทร์ในยุคแรกว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังจากได้ศึกษาตัวอย่างดินดวงจันทร์ที่ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) นำกลับมาสู่โลก แตกต่างจากแบบจำลองดั้งเดิมที่เสนอว่าการพัฒนาเปลือกดาวของดวงจันทร์นั้นเกิดขึ้นสองระยะ
แบบจำลองมหาสมุทรแมกมา (magma) แบบดั้งเดิมเสนอว่าในระยะแรกนั้น แร่พลาจิโอเคลส (plagioclase) เกิดการลอยตัวและรวมตัวกันระหว่างที่มหาสมุทรแมกมาเย็นตัวลง และก่อให้เกิดเปลือกดาวโบราณของดวงจันทร์ ส่วนระยะที่สองนั้นเนื้อดาว (mantle) ของดวงจันทร์เกิดการตลบทับและหลอมละลาย นำไปสู่การก่อตัวของหินกลุ่มแมกนีเซียน (magnesian) และทำให้เปลือกดาวของดวงจันทร์เปลี่ยนรูป
การศึกษาครั้งก่อนหน้าเกี่ยวกับหินอะนอโทไซต์ (anorthosite) บนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นหินชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยแร่พลาจิโอเคลสเป็นส่วนใหญ่ และหินกลุ่มแมกนีเซียน แสดงให้เห็นว่าหินทั้งสองชนิดก่อตัวขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กัน บ่งชี้ว่าขั้นตอนทั้งสองอย่างการก่อตัวและการเปลี่ยนรูปของเปลือกดาวบนดวงจันทร์นั้นอาจเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทว่ากลไกเฉพาะยังคงเป็นปริศนา
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดยหวังสุ่ยจย่ง จากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาแห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) ได้ทำการศึกษาร่วมและค้นพบวัตถุหลอมเหลวลักษณะคล้ายกับหินกลุ่มแมกนีเซียนในชิ้นส่วนของหินอะนอโทไซต์จากเรโกลิธ (regolith) ของตัวอย่างดินดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ-5
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารคอมมิวนิเคชั่นส์ เอิร์ธ & เอ็นไวรอนเมนท์ (Communications Earth & Environment) เมื่อไม่นานนี้ แสดงหลักฐานโดยตรงว่าหินอะนอโทไซต์บนดวงจันทร์และแมกมาแหล่งกำเนิดของหินกลุ่มแมกนีเซียนก่อตัวช่วงเวลาเดียวกัน
การศึกษาระบุว่าการคำนวณแบบจำลองทางธรณีเคมีและเทอร์โมไดนามิกเกี่ยวกับวัตถุหลอมเหลวชนิดนี้ เผยให้เห็นว่าแมกมาแหล่งกำเนิดของมันถือกำเนิดมาจากชั้นเนื้อดาวด้านบนดวงจันทร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการก่อตัวของเปลือกดาวดวงจันทร์เป็นกระบวนการต่อเนื่อง
คณะนักวิจัยเสนอแนวคิดว่าระหว่างกระบวนการเย็นตัวของมหาสมุทรแมกมาบนดวงจันทร์ ความไม่เสถียรเนื่องจากแรงโน้มถ่วงได้กระตุ้นให้เกิดการตลบทับขนาดเล็กบริเวณชั้นเนื้อดาวด้านบนของดวงจันทร์ ตามมาด้วยการพลิกกลับของชั้นเนื้อดาวขนาดใหญ่ และการหลอมละลายจากการลดความดัน (decompression melting) ของชั้นเนื้อดาวด้านล่าง
การศึกษาพบว่าการหลอมละลายของเนื้อดาวชั้นบนของดวงจันทร์ที่เกิดจากการตลบทับของเปลือกดาว มีบทบาทสำคัญที่เชื่อมโยงการสร้างเปลือกดาวโบราณบนดวงจันทร์กับการเปลี่ยนรูปเปลือกดาวในลำดับถัดมา
อนึ่ง ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 กลับสู่โลกเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2020 โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างดวงจันทร์รวม 1,731 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและดินบนพื้นผิวดวงจันทร์