วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 04:30 น.
นายกฯ ชื่นชมการดำเนินงานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ หน่วยงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกของโลก ย้ำรัฐบาลส่งเสริมการผลิต-ส่งออกสินค้าฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ผลักดันอาหารฮาลาลไทยให้มีมาตรฐาน ขยายตลาดไปยังผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลก
(23 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับฟังบรรยายและเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยศูนย์ฯ มีภาระหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และบริการฮาลาลของประเทศ ให้การส่งเสริมฮาลาลทั้งที่เป็นอาหาร ที่มิใช่อาหาร และงานบริการ ตลอดจนการบริการทางวิชาการและให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ฮาลาลแก่หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมผลักดันงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงใหม่ในโลกวิทยาศาสตร์ ให้มีบทบาทต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมฮาลาล ตลอดจนการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยมีผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อาจารย์ นิสิต นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลให้เป็นแหล่งศึกษานวัตกรรมฮาลาลซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยและประเทศไทย โดยศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้สินค้าฮาลาลของไทยมีมาตรฐานในระดับสากล สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยจะต้องมุ่งพัฒนาการร่วมมือและการวิจัยให้มากขึ้น แม้ประเทศไทยจะทำการเกษตรกรรมแต่ต้องเพิ่มรายได้ทางอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งการแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถขยายตลาดอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลกได้ เพราะอาหารเป็นหนึ่งใน soft power ที่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนไปให้ได้ แม้มีอุปสรรคก็ต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาให้ผ่านไปให้ได้ พร้อมเน้นย้ำการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยสร้างแรงจูงใจผู้บริโภค นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรทั้งพืชและปศุสัตว์ เชื่อมโยงการพัฒนาด้านฮาลาล และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจระดับบนให้มีความเข้มแข็ง
นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความห่วงใยในปัญหาด้านการสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการความเข้มงวดการกีดกันทางการค้า โดยใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ปลูกพืชในพื้นที่บุกรุกป่าหรือไม่มีกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในบางพื้นที่ และต้องมีการตรวจสอบต้นทางการผลิตให้ได้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อลดการสูญเสียโอกาสทางการค้า ร่วมมือกันโดยไม่แบ่งแยก ไม่แบ่งพวกแบ่งฝ่าย รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ตรงตามความต้องการของตลาด จัดการเรียนการสอนแบบ active learning สอนกระบวนการคิดที่เป็นระบบและมีภูมิต้านทานทางความคิด
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและจุดแข็งในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ที่มุ่งเน้นการขยายตลาดอาหารไทยไปยังตลาดโลกมาโดยตลอด โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการผลักดันอาหารฮาลาลไทยให้มีมาตรฐานฮาลาลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้สินค้าฮาลาลของไทยสามารถสร้างความมั่นใจและขยายตลาดไปยังผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหาร และภาคการส่งออกของไทยให้สามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนและพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลให้มีความก้าวหน้า และยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของไทย รวมถึงการพัฒนาการศึกษา กำลังคน และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ และขอให้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยฮาลาลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อยกระดับรายได้และเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงสืบไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เส้นปลาจากปลาทับทิมเสริมคุณค่าทางอาหารด้วยสมุนไพรไทย การพัฒนาคัสตาร์ดมันหวานญี่ปุ่นเสริมสารห่อหุ้มจากน้ำมันสมุนไพร นวัตกรรมไข่จากพืช พร้อมชมองค์ความรู้ความเป็นมาของระบบมาตรฐานฮาลาล HAL-Q และผลงานวิจัยนวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ครีมกันแดด อาหารเสริม สบู่เหลว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย ประกอบด้วย 1) ห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล 2) ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ 3) ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ ซึ่งเป็นห้องวิจัยทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านอาหาร โภชนาการ และคอสเมติก รวมทั้งการพัฒนาวิเคราะห์ DNA แลปทางชีวโมเลกุล การเลี้ยงเซลล์ การศึกษาความเป็นพิษของสารต้านอนุมูลอิสระ ต่อด้วย เยี่ยมชมสํานักงานและศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จุฬาลงกรณ์ฯ และมีศูนย์สาขา ณ จังหวัดปัตตานี เชียงใหม่ และนครนายก ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมฮาลาลในด้านต่าง ๆ พร้อมสร้างเครือข่ายระหว่างศูนย์เรียนรู้กับชุมชน พัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ฮาลาลในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ฝึกและห้องทดลองต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบการเกษตร งานพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ งานเกษตรอัจฉริยะฮาลาล เป็นต้น รวมทั้งการให้บริการหน่วยงานภายนอกเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับมาตรฐานการส่งออก ลดการปนเปื้อน เสริมสร้างความเชื่อมั่นของมุสลิมทั่วโลก
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับ SMEs ผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่าง ๆ และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ดังนี้ 1) ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยาฮาลาลวันมูหะมัดนอร์มะทา 2) ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล (ห้องปฏิบัติการด้านเคมี 3) MainLaboratory1108SamplePreparation ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ให้บริการวิจัย ตรวจสอบผลิตภัณฑ์แก่หน่วยงานภายนอก เช่น การตรวจสอบกรดไขมัน ปริมาณแอลกอฮอล์ และการตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ขอให้ร่วมกันพัฒนาคิดค้นและวิจัยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลต่อไป ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลผลิตและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลสู่กระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ช่วยส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และร่วมกันพลิกบทบาทนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์