หน้าแรก > สังคม

กทม. ตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงย่านเยาวราช พบได้เกณฑ์มาตรฐาน พร้อมประสาน กฟน. วางแผนตัดไฟทันทีเมื่อมีเพลิงไหม้

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:10 น.


วันนี้ (10 ก.ค.67) รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจจุดประปาหัวแดงบริเวณชุมชนพาดสาย เขตสัมพันธวงศ์ ภายในชุมชนจะมีประปาหัวแดง 2 จุด ได้แก่ 1.ทางเข้าถนนพาดสาย มีลักษณะเป็นหัวดับเพลิงที่อยู่เหนือพื้นดิน 2.ซอยวานิช 1 มีลักษณะเป็นหัวดับเพลิงที่ฝังอยู่ใต้พื้นดิน ระยะห่างของประปาหัวแดงจากทางเข้าชุมชนด้านถนนพาดสายถึงชุมชนระยะทาง 132.7 เมตร ส่วนทางด้านซอยวานิช 1 ถึงชุมชนระยะทาง 75.5 เมตร นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงชุมชนด้านซอยวานิช 1 ยังมีประปาหัวแดงฝังอยู่ใต้พื้นดินอีก 1 จุด ระยะห่างจากชุมชน 94 เมตร

พร้อมทั้งสำรวจถังดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่ภายในชุมชนพาดสาย ซึ่งมีถังดับเพลิงแบบยกหิ้ว จำนวน 15 ถัง ติดสติ๊กเกอร์ QR CODE แสดงตำแหน่งของถังดับเพลิงใน Bangkok risk map จากการตรวจสอบถังดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร และถังดับเพลิงของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทั้งหมด สำหรับชุมชนพาดสายมีพื้นที่ 1.15 ไร่ บ้านเรือน 75 หลังคาเรือน ประชากร 230 คน ถ้าคิดตามเกณฑ์มาตรฐานของกรุงเทพมหานคร ถังดับเพลิง 1 ถังต่อ 5 หลังคาเรือน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้มอบหมายให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานการไฟฟ้านครหลวง ในเรื่องของการตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากการตัดกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ไม่สามารถตัดไฟได้ทั้งหมดในวงกว้าง จะต้องทำการตัดกระแสไฟเป็นจุด ๆ ในบริเวณที่เกิดเหตุ อีกทั้งการตัดกระแสไฟยังต้องคำนึงถึงผู้ป่วยติดเตียงที่รักษาอยู่ที่บ้าน โดยให้เขตฯ จัดทำข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ให้เรียบร้อย ในส่วนของประปาหัวแดงให้ประสานการประปานครหลวง กำหนดพิกัดประปาหัวแดงลงในระบบ Bangkok risk map ทั้งหัวดับเพลิงที่อยู่เหนือพื้นดินและหัวดับเพลิงที่ฝังอยู่ใต้พื้นดิน รวมถึงพิจารณาหาแนวทางติดป้ายตรงจุดที่มีหัวดับเพลิงที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินให้เห็นเด่นชัด ไม่ตั้งวางสิ่งของกีดขวางประปาหัวแดง ซึ่งเป็นจุดรับน้ำหัวดับเพลิง

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจุดรับบริจาคสิ่งของจากเหตุเพลิงไหม้ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ประสบภัย ผู้ปฏิบัติงานและจิตอาสาที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว

ในการนี้มี นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม