วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 10:18 น.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง “นัคราพิพัฒน์”
ตามที่ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) เพื่อเชื่อมต่อและขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความสมบูรณ์ รองรับการเดินทางของประชาชน โดยได้นำระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ประชาชนแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองฯ ว่า “นัคราพิพัฒน์” (นัก-คะ-รา-พิ-พัด) Nakkhara Phiphat ซึ่งมีความหมายว่า ความเจริญแห่งเมือง นำมาซึ่งความปีติยินดีและสิริมงคลแก่กระทรวงคมนาคม รฟม. และประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง
โดย กระทรวงคมนาคม และ รฟม. จะยังมุ่งมั่นพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางให้มีความสมบูรณ์ อำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนด้านการคมนาคมและการบริการขนส่งสาธารณะต่อไป
สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 23 สถานี เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. โดยตลอดเส้นทางมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักอีก 4 สาย ได้แก่ สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สถานีหัวหมากเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก และสถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ
พร้อมกันนี้ ผู้ใช้รถยนต์ยังสามารถนำรถมาจอดได้ที่อาคารจอดแล้วจรสถานีศรีเอี่ยมและที่อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 – 01.00 น.
ติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน