วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:24 น.
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 08.48 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลังภาวะ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในโอกาสที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับนานาชาติ ในหัวข้อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภายหลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนทั่วโลก
โอกาสนี้ ทรงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Sustainable Development on Mathematics and Science Education in the Post - COVID - 19Era"
หรือ "การพัฒนาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ยั่งยืน ช่วงหลังโควิด 19 " ทรงเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการ ศึกษาที่ทรงพบว่าโควิด-19 มีปัญหาต่อการศึกษาเด็กอย่างไร การเรียนการสอนในถิ่นห่างไกล การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งหลายภาคส่วนร่วมกันดำเนินการศึกษา รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคนยุคหลังโควิดทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และการงานแทบทุกด้าน ทักษะอาชีพยุคโควิด มีความต้องการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการ Reskill , Upskill เพิ่มเติมทักษะที่มีอยู่เดิม และ เรียนรู้ new skill ที่จำเป็นต่อการทำงานในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ เน้นความ สำคัญของการเรียนรู้เสมอ การต่อสู้กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น เป็นบทเรียนที่หลากหลาย ต้องปรับตัวให้เหมาะสม จัดการเรียนรู้แบบรอบด้าน ทั้งทักษะ การปรับตัว การวิเคราะห์ และต้องระมัดระวังกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่วนการศึกษายุคหลังโควิด ที่ต้องระดมความคิดและปรับตัว ตัวอย่างเช่น จัดการเรียนการสอนที่มิใช่มุ่งสอนแต่ความรู้ แต่สอนให้เรียนรู้รอบด้าน ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นต้น โดยสิ่งที่ทรงบรรยายล้วนเป็นเรื่องสืบทอดพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา ซึ่งผู้ที่มีโอกาสจากงานที่ทรงมีพระปณิธานนี้ ควรจะช่วยกันให้โอกาสผู้อื่นต่อไป
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และนิทรรศการด้านการเรียนการสอนคณิต ศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ Talented students กล่าวถึงผลกระทบของการระบาดต่อกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์และแนวทางการแก้ปัญหาและการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ให้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ Inclusive education แนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ส่งผลให้การกระจายตัวของการศึกษา ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ในสังคม และ Digital transformation กล่าวถึงบทบาทของสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล ที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเรียนการสอนระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อและการศึกษาในปัจจุบัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน