หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

กรมอนามัยชวนเช็กแคลอรี “ขนมไหว้พระจันทร์” กินมากเสี่ยงอ้วน

วันที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 09:42 น.


29 กันยายน 2566  ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ประชาชนมักนิยมเลือกซื้อขนมไหว้พระจันทร์เป็นของฝากผู้ใหญ่ หรือซื้อมาบริโภคกันภายในบ้าน โดยในปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์มีไส้ให้เลือกมากมาย ทั้งไส้หวาน ไส้ธัญพืช ไส้หมูแฮม หมูแดง หมูหยอง และไส้ต่าง ๆ ที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว นอกจากนี้ ขนมไหว้พระจันทร์มีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และยังมีน้ำมัน น้ำเชื่อม เมื่อมาผสมกับไส้ต่าง ๆ จึงเป็นขนมที่ให้พลังงานสูงมาก

โดยขนมไหว้พระจันทร์ขนาดปกติ 1 ชิ้น น้ำหนัก 166 กรัม ให้พลังงานถึง 614 – 772 กิโลแคลอรี ซึ่งสูงกว่าข้าวผัดหมู ผัดไทยกุ้งสด ข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว หรือเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว 1 จาน และแม้จะตัดแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ก็ยังให้พลังงานถึง 96 – 120 กิโลแคลอรี
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเตือนว่า ขนมไหว้พระจันทร์ชิ้นเล็กให้พลังงานแตกต่างกันตามชนิดของไส้ อาทิ ไส้โหงวยิ้ง ให้พลังงาน 120.3 กิโลแคลอรี ไส้เมล็ดบัวและไข่ ให้พลังงาน 112.8 กิโลแคลอรี ไส้เมล็ดบัว ให้พลังงาน 107.6 กิโลแคลอรี ไส้หมอนทอง ให้พลังงาน 106.7 กิโลแคลอรี ไส้ทุเรียน ให้พลังงาน 102.3 กิโลแคลอรี ไส้พุทรา ให้พลังงาน 96.2 กิโลแคลอรี

โดยขนมไหว้พระจันทร์แต่ละไส้ จะให้พลังงานที่แตกต่างกัน ปริมาณ 100กรัม ต่อ 1 ชิ้น
- ไส้เมล็ดบัวและไข่ ให้พลังงาน 404 กิโลแคลอรี
- ไส้เมล็ดบัว ให้พลังงาน 384 กิโลแคลอรี
- ไส้ทุเรียนให้พลังงาน 345 กิโลแคลอรี 
- ไส้ทุเรียนไข่เค็ม ให้พลังงาน 375 กิโลแคลอรี
- ไส้พุทราจีน ให้พลังงาน 338 กิโลแคลอรี

ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำว่า ในหนึ่งวันเมื่อกินขนมไหว้พระจันทร์ไปแล้ว ก็ควรเลี่ยงขนมหวานอื่น ๆ และควบคุมปริมาณการกินโดยแบ่งกินเป็นชิ้นเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่ม อ้วนลงพุง และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา หากไม่มีการควบคุมปริมาณและละเลยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งนี้ ก่อนกินขนมไหว้พระจันทร์ทุกครั้งต้องดูวันผลิตหรือวันหมดอายุ รวมทั้งสังเกตกลิ่นและสีของขนมว่าผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีกลิ่นและสีที่เปลี่ยนไป ควรงดบริโภคทันทีเพื่อความปลอดภัย

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม