หน้าแรก > การเมือง

นายกฯ เศรษฐา ประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” เป็น “รัฐสนับสนุน”

วันที่ 6 กันยายน 2566 เวลา 14:52 น.


นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” เป็น “รัฐสนับสนุน”

วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 11.45 น. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านคอรัปชันร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกองค์กรทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การปราบปรามการทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล และเป็น “หน้าที่” ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องสนับสนุน และปฏิบัติตาม อย่างไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นอันดับที่ 101 ของโลก ในด้านของดัชนีการรับรู้การทุจริต เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากที่จะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย เพื่อที่จะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป ทางรัฐบาลมีนโยบาย ทั้งด้านการใช้หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ทั้งความโปร่งใส และการให้บริการภาครัฐที่เร็วยิ่งขึ้น ใช้หลักนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงมาจากระบบการเขียนกฎหมาย และการออกกฎหมายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเองและของประเทศ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดกระบวนการและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” ให้เป็น “รัฐสนับสนุน” และป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินสินบนจากประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกจากกฎหมายที่เข้มแข็งแล้ว รัฐบาลของเราจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่เฉียบขาดและครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ ตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และในระดับสูงจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก  และการบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้นี้จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกัน และขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งนอกจากนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เราสามารถเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตัวอย่าง นโยบายที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้คือ

1) ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
2) เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย “ง่าย” เป็น One-stop service (พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565) 
3) ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government
4) ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานของรัฐบาล ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง ความโปร่งใสและเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น และตามมาด้วยความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีต่อเศรษกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอจากนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 5 ข้อ ดังนี้
1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน
มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล
3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาเชิงรุก ปลุกพลังคนไทยร่วมตรวจสอบโครงการเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยเว็บไซต์ “ACT Ai” “แค่สงสัยก็เสิร์ชเลย” องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566”

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม