หน้าแรก > สังคม

ว่าด้วยเรื่องบุหรี่ ผ่านมุมมองผู้สูบและไม่สูบ ในวันงดสูบบุหรี่โลก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 19:27 น.


31 พฤษภาคม 2566 “กรุงเทพโพลล์” โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ว่าด้วยเรื่องของบุหรี่ผ่านมุมมองผู้สูบและไม่สูบ ในวันงดสูบบุหรี่โลก” 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,114 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.3 ระบุว่า ตนเองและคนในครอบครัวไม่มีใครสูบบุหรี่ รองลงมาร้อยละ 16.4 ระบุว่า มีคนในครอบครัวหรือคนรักสูบ และร้อยละ 10.3 ระบุว่าเป็นคนสูบเอง

เมื่อถามเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ว่าเคยคิดจะเลิกสูบบุหรี่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.3 ระบุว่าเคยคิด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 69.0 ระบุว่าคิดจะเลิกสูบเพื่อตัวเอง และร้อยละ 31.0 ระบุว่าคิดจะเลิกสูบเพื่อคนในครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 18.7 ระบุว่าไม่เคยคิดจะเลิกสูบบุหรี่ ส่วนเหตุผลที่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่ นั้น ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.9 ระบุว่า ติดแล้วเลิกยาก รองลงมาร้อยละ 27.1 ระบุว่า สูบเพื่อคลายเครียด และร้อยละ 14.1 ระบุว่าสูบจนชินแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่าเคยคำนึงถึงคนรอบข้าง หรือไม่ เมื่อคิดจะสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.0 ระบุว่า คำนึงถึงและจะออกไปสูบที่ไกลคน /ไปสูบในเขตสูบบุหรี่ รองลงมาร้อยละ 4.8 ระบุว่า คำนึงถึงแต่เชื่อว่าเขาจะไม่ว่าและเดินหนีออกไปเอง และร้อยละ 1.2 ระบุว่าไม่คำนึงถึงถ้าเขาไม่ชอบก็ควรเดินหนีไปเอง

เมื่อถามเฉพาะผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ว่ามีวิธีอย่างไรเมื่อต้องอยู่ใกล้ๆ /เดินผ่านคนที่กำลังสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.9 ระบุว่าเดินเลี่ยงไปทางอื่นแทน รองลงมาร้อยละ 40.5 ระบุว่ารีบเดินผ่านให้เร็วที่สุด และร้อยละ 23.2 ระบุว่าเดินปิดจมูก/กลั้นหายใจ

จากการรณรงค์เรื่องควันบุหรี่มือ 2 คิดว่าปัจจุบันผู้ที่สูบบุหรี่ได้ตระหนักถึงอันตรายที่ส่งผลต่อคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.1 เห็นว่าคำนึงถึงน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 32.9 เห็นว่าคำนึงถึงมากถึงมากที่สุด

ส่วนการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่เข้มงวดขึ้นทำให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.1 รู้สึกได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยจากควันบุหรี่มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.9 รู้สึก ได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยจากควันบุหรี่น้อยถึงน้อยที่สุด

เมื่อถามทั้งผู้ที่สูบและไม่สูบบุหรี่ในประเด็นต่างๆ พบว่า

  • ประเด็นเรื่องการขึ้นราคาบุหรี่ทำให้มีผู้สูบบุหรี่ลดลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.7 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 23.3 ระบุว่าเห็นด้วย
  • ประเด็นเรื่องการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่เข้มงวดขึ้นทำให้มีผู้สูบบุหรี่ลดลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.5 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 47.5 ระบุว่าไม่เห็นด้วย
  • ประเด็นการรณรงค์เรื่องภัยจากบุหรี่ผ่านสื่อ/องค์กรต่างๆ ทำให้มีผู้สูบบุหรี่ลดลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.8 ระบุว่าเห็นด้วย และร้อยละ 43.2 ระบุว่าไม่เห็นด้วย                                                                                                                                                                                                                                                   

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม