หน้าแรก > ภูมิภาค

วสท.วิเคราะห์ 5 ปัจจัยเสี่ยง หลังคาโรงเรียนถล่มใน จ.พิจิตร "จากพายุฤดูร้อน"

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 10:06 น.


วสท.วิเคราะห์ 5 ปัจจัยเสี่ยง หลังคาโรงเรียนถล่มใน จ.พิจิตร "จากพายุฤดูร้อน" แนะไม่ควรเข้าไปในพื้นที่โครงหลังคาเมื่อเกิดพายุ แต่ควรหลบอยู่ในอาคารที่แข็งแรง

จากเหตุการณ์พายุพัดโดมอเนกประสงค์ถล่มในโรงเรียนวัดเนินปอ จ.พิจิตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บ 18 คน ทั้งหมดเป็นเด็ก ผู้ปกครอง และนักการภารโรง

ล่าสุด ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุทำให้เกิดการพังถล่มของอาคาร โดยสรุปไว้ 5 ปัจจัย ดังนี้

1.ความแรงของพายุฤดูร้อน ที่รุนแรงมากกว่าลมปกติทั่วไป 2-3 เท่า แม้จะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ในระยะเวลาสั้น แต่ด้วยความแรงที่สูงก็สามารถทำให้โครงสร้างพังถล่มได้

2.ลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างที่มีพื้นที่ปะทะลมมาก เช่น โครงหลังคา หรือป้ายโฆษณา ซึ่งแรงลมที่ปะทะเข้ามาก็จะเพิ่มขึ้นตามพื้นที่รับลม ดังนั้นโครงสร้างหลังคาที่มีช่วงยาวมาก ก็ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

3.การออกแบบโครงสร้างไม่ได้คำนึงถึงพายุฤดูร้อน โครงสร้างในสมัยก่อนมีค่าแรงลมที่ใช้ในการออกแบบต่ำกว่าความเป็นจริง 2-3 เท่า

4.การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน สังเกตจากรูปอาคารที่ถล่ม พบว่า เสาคอนกรีตหักโค่นลงมาแล้วทำให้หลังคาพังถล่มตามมา บ่งชี้ว่ากำลังรับน้ำหนักของเสาไม่เพียงพอ ประกอบการโครงหลังคาค่อนข้างสูง ความชะลูดของเสาทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลงไปมาก ดังนั้นเมื่อมีแรงลมมาปะทะ ทำให้เสาเกิดการโย้ตัว และด้วยน้ำหนักที่มากของโครงหลังคาทำให้เสาหัก โครงหลังคาจึงตกลงมากระแทกพื้นดิน

5.คุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างอาจไม่ได้มาตรฐาน สังเกตได้จากคอนกรีตที่แตกหักเป็นชิ้น ๆ แสดงว่าคอนกรีตที่ใช้อาจมีกำลังอัดที่ต่ำ อาจเป็นสาเหตุทำให้รับน้ำหนักไม่ได้
ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้โครงหลังคาถล่ม อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน หรืออาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย ต้องรอผลการตรวจสอบและการวิเคราะห์โดยละเอียด และต้องได้ข้อมูลจากสถานที่จริง แบบก่อสร้าง คุณภาพวัสดุ เศษซากปรักหักพังของคอนกรีตและเหล็กเสริม เพื่อนำมาวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ศ.ดร.อมร ยังระบุว่า พายุฤดูร้อนเป็นภัยร้ายแรงที่ประมาทไม่ได้ คาดว่ายังมีอาคารอีกหลายหลังที่เข้าข่ายความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่ใช้แบบมาตรฐานที่ก่อสร้างคล้ายกัน ข้อแนะนำเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัย คือ ไม่ควรเข้าไปอยู่ในพื้นที่โครงหลังคาเมื่อเกิดพายุ แต่ควรหลบอยู่ในอาคารที่แข็งแรง เช่น อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่สำคัญภายหลังเหตุการณ์นี้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของโครงหลังคาที่ก่อสร้างไปแล้ว และต้องทำการเสริมกำลังให้กับโครงสร้างอาคารตามหลักวิศวกรรมต่อไป
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม