หน้าแรก > สังคม

กรมอนามัย สานสัมพันธ์ 2 ฝั่งโขง พร้อมยกระดับประชาชนไทย-ลาว ให้มีสุขภาพดี

วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เวลา 23:03 น.


กรมอนามัย สานสัมพันธ์ 2 ฝั่งโขง พร้อมยกระดับประชาชนไทย-ลาว ให้มีสุขภาพดี

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย หัวหน้าคณะฝ่ายไทยพร้อมด้วย ดร. เกศเกสร พระศรีสมบัติ รองอธิบดีกรมอนามัยและส่งเสริมสุขภาพ หัวหน้าคณะฝ่าย เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือไทย - ลาว ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 9พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมบรรยายพิเศษ และ นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทั้งฝั่งไทย และสปป.ลาว ร่วมประชุม

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและระบบสุขภาพของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ติดต่อกัน จากการคาดการณ์โครงสร้างประชากรตามกลุ่มอายุในช่วงปี 2523 - 2593 พบว่า ประชากรวัยเด็ก (วัยแรกเกิด - 14 ปี) ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มลดลงทุกประเทศ โดยประเทศที่คาดว่าจะมีประชากรวัยเด็กลดลงในปี 2558 ได้แก่ ไทยและเวียดนาม กลุ่มประเทศที่คาดว่าจะลดลงในปี 2573 ได้แก่ บรูไน พม่า สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะลดลงในปี 2593 ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่สูง สำหรับสุขภาพประชาชนวัยทำงาน พบว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้อยละ 69 เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สำหรับสถานการณ์ด้านฝุ่น PM 2.5 พบว่า พื้นที่ในภูมิภาคอาเซียนยังคงประสบปัญหาฝุ่นและหมอกควันข้ามแดนอยู่ ซึ่งสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน และตระหนักถึงปัญหา Border Health เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนาการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้เห็นความสำคัญ และลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Memorandum of Understanding: MOU)

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในความร่วมมือด้านสาธารณสุขและพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมอนามัยในฐานะที่มีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงได้ขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัยและส่งเสริมสุขภาพแห่งสปป.ลาว (Department of Hygiene and Health Promotion, Ministry of Health, Lao PDR) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศมีสุขภาพดี และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทย และ สปป.ลาวยังได้มีเมืองนำร่องในการทำงานระดับพื้นที่ระหว่าง 7 เมืองคู่ ด้านอนามัยแม่และเด็ก ได้แก่ จังหวัดเชียงราย - แขวงบ่อแก้ว จังหวัดน่าน - แขวงไชยบุรี จังหวัดหนองคาย - นครหลวงเวียงจันทน์ จังหวัดบึงกาฬ - แขวงบอลิคำไซ จังหวัดนครพนม - แขวงคำม่วน จังหวัดมุกดาหาร - แขวงสะหวันนะเขต และจังหวัดอุบลราชธานี - แขวงจำปาศักดิ์

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงักลงแต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว กรมอนามัย กระทรงสาธารณสุข โดยศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือไทย - ลาว ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) รวมถึงพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในเมืองคู่ต่างๆ ร่วมกับกรมอนามัยและส่งเสริมสุขภาพของสปป.ลาว ให้ความร่วมมือทวิภาคี ไทย - ลาว มีการขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม