หน้าแรก > ภูมิภาค

กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินพืชแห่งใหม่ในไทย อายุกว่า 225 ล้านปี ที่เพชรบูรณ์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 09:11 น.


กรมทรัพยากรธรณี รายงานว่าสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี เข้าตรวจสอบการแจ้งพบร่องรอยคล้ายรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่บ้านดงมะไฟ ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา


จากผลการตรวจสอบพื้นที่พบลานหินขนาดใหญ่ประมาณ 10 เมตร กว้าง 3 เมตร กลางลำห้วยด้านล่างของน้ำตกตาดใหญ่ พบร่องรอยแนวทางเดินประมาณ 2 แนวทางเดิน แสดงลักษณะของการย่างก้าวอย่างชัดเจน ระยะห่างช่วงก้าวมีขนาดใกล้เคียงกันทุกช่วงก้าว และขนาดของรอยตีนมีความยาวเฉลี่ยใกล้เคียงกันทุกรอย  หมวดหินห้วยหินลาด กลุ่มหินโคราช ช่วงไทรแอสสิกตอนปลาย อายุคาร์เนียน - นอเรียน หรืออายุประมาณ 225 ล้านปี  และได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านรอยตีนดึกดำบรรพ์ จาก Esperaza Dinosaur Museum ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส  ซึ่ง Dr. Jean Le Loeuff  ยืนยันว่า เป็นร่องรอยตีนของสัตว์ดึกดำบรรพ์

กมลลักษณ์ วงษ์โก นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี  อธิบายว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลง ลานหินขนาดใหญ่จึงปรากฏให้เป็น และแหล่งชากตึกดำบรรพ์ดังกล่าวควรทำการศึกษาในรายละเอียดถึงชนิดของเจ้าของร่องรอ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายรอยตีนของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (sauropod) หรือกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชคอยาว แต่จากอายุหินและหมวดหินดังกล่าว ยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์มาก่อน


“ หากเราทำการศึกษาและได้คำตอบที่แน่ชัดแล้ว จะถือเป็นข้อมูลการค้นพบที่สำคัญด้านบรรพชีวินวิทยาและวิวัฒนาการของสัตว์ดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยและของโลก ซึ่งจะทำให้แหล่งดังกล่าวมีมูลค่าทางการศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาของจังหวัดเพชรบูรณ์ยิ่งขึ้น” ในอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ยังเคยค้นพบซากดึกดำบรรพ์กระดูกของไดโนเสาร์กลุ่มโปรซอโรพอด (Prosauropod) จำพวกคอยาว ขาหน้าสั้น และยังมีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ผารอยตีนอาร์โคซอร์ สัตว์เลี้อยคลานคล้ายจระเข้ขนาดใหญ่ที่เป็นบรรพบุรุษไดโนเสาร์ อายุเก่าแก่มากกว่า 200 ล้านปีอีกด้วย

สำหรับซากดึกดำบรรพ์ ประเภทรอยชีวิน (Ichnos) อย่างรอยตีน เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา "พฤติกรรม" ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งยังอธิบายพฤติกรรมส่วนตัว เช่น จังหวะก้าวเดิน ระยะห่างความเร็ว ลักษณะการเดินจากรอยลากหรือยกหาง และยังสามารถศึกษาพฤติกรรมกลุ่มได้ด้วย เช่น การอยู่อาศัย การหาอาหาร อยู่กันเป็นฝูง หรือแม้กระทั่งการบอกรายละเอียดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแหล่งที่อยู่อาศัยในอดีตได้

กรมทรัพยากรธรณีมีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี ในด้านการพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้และบริการข้อมูลวิชาการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณีชากดึกดำบรรพ์ อนุรักษ์ตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์รวมทั้งสำรวจรายละเอียดด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม