หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

กรมอนามัย เผยภาคเหนือร้อนสุด แนะเช็กอุณหภูมิคู่ค่าดัชนีความร้อน ลดเสี่ยงโรคฮีทสโตรก

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 14:32 น.


กรมอนามัย เผยภาคเหนือร้อนสุด แนะเช็กอุณหภูมิคู่ค่าดัชนีความร้อน ลดเสี่ยงโรคฮีทสโตรก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่ผ่านมาในเดือนเมษายน 2566 พบว่าภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และตะวันออก มีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในระดับมีอันตราย ถึง อันตรายมาก โดยจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43 องศาเซลเซียส (ระดับอันตรายมาก) คือ ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี รวมทั้งค่าดัชนีความร้อน พบว่าอยู่ในระดับอันตรายมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และภูเก็ต โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดนี้ จะมียาวนานไปจนถึงช่วงเดือนต้นเดือนพฤษภาคม 2566 และจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566

กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนเช็กสภาพอากาศเป็นประจำ ซึ่งสามารถตรวจสอบอุณหภูมิสูงสุดควบคู่กับค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ได้จากกรมอุตินิยมวิทยา เนื่องจากอากาศร้อนจัดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยค่าดัชนีความร้อนจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าอุณหภูมิที่วัดได้จริง มาจากการคำนวณค่าอุณหภูมิและค่าความความชื้นสัมพัทธ์ ทำให้ร่างกายจะรู้สึกว่าอากาศร้อนอบอ้าวกว่าปกติคล้ายกับลักษณะก่อนฝนจะตก เพราะบรรยากาศมีความชื้นสูง ประกอบกับการสะสมความร้อน ทำให้อากาศบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ที่สำคัญเมื่อความชื้นในอากาศสูง จะมีผลทำให้การระเหยน้ำในร่างกายต่ำลง ร่างกายจึงไม่สามารถระบายความร้อนผ่านเหงื่อออกทางรูขุมขน ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคฮีสโตรก คือ ภาวะ Classic heatstroke or Non-exertional heatstroke เกิดจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง แล้วทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงตาม มักพบในคนที่อยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและชื้นเป็นเวลานาน และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ Exertional heatstroke เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจากการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง เกิดได้ง่ายขึ้นในคนที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน

“ทั้งนี้ โรคฮีสโตรกยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีโอกาสเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ง่าย เช่น อายุที่น้อยหรือมากเกินไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย การใช้ยาบางกลุ่มที่ทำให้สูญเสียน้ำ หรือร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น การป้องกันตัวเองจากความร้อนและโรคฮีทสโตรก คือ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด ทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ พร้อมสังเกต 4 อาการเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก ได้แก่

1) เหงื่อไม่ออก 
2) สับสนมึนงง 
3) ตัวร้อนจัด 
4) ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง

หากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ควรรีบตามแพทย์ หรือโทร 1669 และพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ สามารถรับคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย https://hia.anamai.moph.go.th/th”

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม