วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 09:22 น.
วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เสียให้สามารถแก้ไขกลับไปเป็นหนี้ปกติได้เร็วขึ้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้ ให้สามารถช่วยเหลือผู้เป็นหนี้เสียกรณีบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นไป โดยกำหนดคุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 120 วันขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จากเดิมที่จำกัดว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 ก.พ. 66 เท่านั้น ซึ่งการปรับเกณฑ์นี้จะทำให้ผู้มีปัญหาการชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ถูกจำกัดช่วงเวลาการเกิดหนี้เสียอีกต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนผู้ที่กำลังประสบปัญหาชำระหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งโครงการจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแต่ละราย เพื่อจัดทำแผนการชำระหนี้ใหม่ที่เหมาะสมให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่องจนปลดหนี้ได้ ซึ่งภายใต้แผนการชำระหนี้ใหม่อาจมีการกำหนดเงื่อนไขบางประการ เช่น มีเงื่อนไขไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ เพื่อสร้างวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถ สมัครร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือสอบถามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมที่ LINE Official Account ของโครงการที่ @debtclinicbysam, ทางเฟซบุ๊ค คลินิกแก้หนี้ by SAM หรือสอบคอลเซ็นเตอร์ โทร. 1443 ได้ทุกวัน เวลา 9:00-19:00 น.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. กับ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) มีเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 70 ปี, เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องเป็นหนี้กับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคาร และไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) เช่นบริษัทบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 แห่ง