วันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 04:00 น.
กทม. พร้อมเทศกิจ ยกซากรถจอดทิ้ง ซอยริมทางรถไฟ 5 จัดระเบียบผู้ค้าตลาดดาวคะนอง ติดตามระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตธนบุรี
(27 เม.ย.66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย
ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยริมทางรถไฟ 5 เขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ประกอบกับได้รับการแจ้งจากประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่าพบซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 2 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทะเบียนรถ พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน แต่ยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ในการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยจะจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ จำนวน 1,307 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 1,091 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย จำนวน 170 คัน และรอเคลื่อนย้าย จำนวน 46 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 29 คัน และขายทอดตลาด จำนวน 14 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย.66)
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณพื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายในเวลา 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร โดยจัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ได้แก่ ต้นประดู่บ้าน ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ต้นเฟื่องฟ้า ต้นไทรทอง ต้นชาฮกเกี้ยน เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โดยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เขตฯ มีแนวคิดที่จะจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม โดยขยายสวนเดิมออกไปทางด้านสถานีโพธิ์นิมิตร พัฒนาพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท เอ็น.เค.ซี.อินเตอร์ จำกัด ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งประกอบกิจการประเภทอู่เคาะพ่นสียานยนต์ ทั้งนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) ประเภทกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุธูป 1 แห่ง ประเภทอู่เคาะพ่นสียานยนต์ 8 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์การค้าริเวอร์ไซด์ พลาซ่า พื้นที่ 8 ไร่ มีร้านค้า 63 ร้าน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แยกเศษอาหารส่งเกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ แยกกากกาแฟเพื่อลดปริมาณขยะ และนำมาแปรรูปสบู่กากกาแฟเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ 2.ขยะรีไซเคิล จัดเวทีเสวนาร่วมกับองค์กร Indorama corsair ส่งพลาสติกกลับบ้าน ให้ความรู้การลดและคัดแยกขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จัดตั้งจุด Drop point สำหรับทิ้งพลาสติกยืด พลาสติกแข็ง บริเวณศูนย์การค้าฯ เพื่อรองรับประชาชนและชุมชนใกล้เคียงที่ต้องการนำขยะพลาสติกมาทิ้ง 3.ขยะทั่วไป จัดให้มีห้องจัดเก็บขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย จัดให้มีห้องจัดเก็บขยะอันตราย นอกจากนี้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าฯ ได้ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนนำไปทิ้งในจุดที่กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 23,496 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 9,153 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 594 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 13,749 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดดาวคะนอง ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 214 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 50 ราย 3.สี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 45 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) ผู้ค้า 45 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 78 ราย ได้แก่ 1.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 17 ราย 2.ปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 16-20 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ผู้ค้า 14 ราย 5.ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ขีดสีตีเส้นขอบเขตการตั้งวางแผงค้าให้ชัดเจน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด พิจารณาปรับเปลี่ยนร่มหรือผ้าใบคลุมแผงค้าให้เป็นรูปแบบลักษณะเดียวกัน รวมถึงหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ผู้ค้ามาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 23,178 แปลง สำรวจแล้ว 21,520 แปลง คงเหลือ 1,658 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 39,972 แห่ง สำรวจแล้ว 31,457 แห่ง คงเหลือ 8,515 แห่ง ห้องชุด 21,449 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 84,599 รายการ สำรวจแล้ว 74,426 รายการ คงเหลือ 10,173 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ ซึ่งเขตฯ มีข้าราชการและบุคลากร 637 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ 3.ขยะอันตราย 4.ขยะทั่วไป โดยจัดภาชนะสำหรับใส่ขยะแยกประเภทขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะทั่วไป ตั้งวางไว้ตามชั้นภายในอาคารและด้านนอกอาคาร จัดเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ขอความร่วมมือส่วนราชการในเขตฯ รายงานผลการดำเนินงานให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ทราบทุกเดือน ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะ อบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการ บุคลากร และพนักงานสถานที่ประจำเขตฯ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 78 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 23 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 53 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน