วันที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 19:17 น.
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./หน.PCT ชุดที่ 5 พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด PCT 5 ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ รอง สว.กก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.2, ร.ต.อ.หญิง ธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.ภ.2 ได้ร่วมกันจับกุมตัว นายเชาวลิตร (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดลพบุรี
จับกุมได้ บริเวณใต้ อาคารแห่งหนึ่ง ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
โดยกล่าวหาว่า ฉ้อโกงประชาชน , ทุจริตโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน
ผู้ต้องหาตามหมายจับ
1.ศาลอาญา ที่ 2217/2565 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน , ทุจริตโดยการหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน”
2.หมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 635/2565 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”
3.หมายจับศาลจังหวัดระยอง ที่ 63/2565 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง และ โดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
4.หมายจับศาลจังหวัดเพชรบุรี ที่ 370/2565 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน , โดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จซึ่งอาจเกิดความเสียหายกับประชาชน”
5.หมายจับศาลจังหวัดหลังสวน ที่ 125/2564 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”
6.หมายจับศาลจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ 54/2564 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น”
7.หมายจับศาลแขวงดอนเมือง ที่ 21/2563 ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง”
8.หมายจับศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 625/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” รวม 8 หมายจับ
พฤติการณ์ กล่าวคือ ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาล ได้ร่วมกันสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อติดตามจับกุมตัวคนร้ายซึ่งมีพฤติการณ์หลอกขายรถยนต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยคนร้ายมีบัญชีเฟซบุ๊กกว่า 10 บัญชี และมีบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินจากลูกค้าอีกกว่า 10 บัญชี แต่ได้โดนอายัดไปแล้ว มีเงินคงค้างในบัญชีอยู่ กว่าสองแสนบาท โดยวิธีการก่อเหตุ จะนำรูปรถยนต์จากสื่อต่างๆ มาโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กที่ได้สร้างขึ้นมา ในราคา ไม่เกินคันละ 100,000 บาท และจะให้ผู้เสียหายโอนค่ามัดจำ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยจะตั้งราคารถเท่าไหร่ก็จะให้โอนเงินมัดจำไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แต่หากว่า ผู้เสียหาย มีความลังเลหรือ บ่ายเบี่ยง โอนช้าก็จะลดค่าเงินมัดจำให้กับลูกค้า เหลือ 3,000 บาท โดย มีพฤติการณ์ ก่อเหตุตั้งแต่ ปี 2558 ถึง ปัจจุบัน ก่อเหตุมาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ครั้ง และมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท บางวันได้เงินหลายพันบาท บางเดือนได้เป็นแสนบาทแล้ว แล้วแต่มีผู้เสียหายติดต่อโอนมา
ผู้ต้องหาให้การว่า วิธีการหลอกจะใช้รูปและชื่อจริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยวิธีการจะเข้าไปดูโปรไฟล์ของผู้เสียหายว่าอยู่ที่จังหวัดอะไร เช่น อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ก็จะแจ้งว่ารถ อยู่ ภาคเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ผู้เสียหายจะขอดูรถ และเมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แล้ว ก็จะไม่มีการปิดเฟซบุ๊กหนีเพราะเกรงว่าผู้เสียหาย จะโมโหและแจ้งความทันที แต่จะใช้เวลาในการยื้อเวลากับผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายไม่คิดแจ้งความ แต่หากผู้เสียหายคนไหน พิจารณาแล้ว เป็นผู้เสียหายที่เอาจริงในเรื่องการดำเนินคดี ก็จะคืนเงินให้ แต่จะไม่คืนให้ทั้งหมด เช่น โอนมา 10,000 บาท ก็จะคืน 5,000 บาท เพื่อลดอารมณ์ของผู้เสียหาย โดย รถยนต์ที่ นายเชาวลิตร หลอกขายส่วนใหญ่จะเป็นรถหลุดจำนำ และเฟอร์นิเจอร์ และที่ทำบ่อยที่สุดคือรถยนต์ จำพวกรถโฟร์วีล เนื่องจากเป็นรถหายากมีผู้ต้องการเยอะทำให้หลอกผู้เสียหายได้มาก นำส่งพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่มา : สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ