วันที่ 23 เมษายน 2566 เวลา 16:31 น.
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 11 เม.ย.66 ได้มีชายจำนวน 4 คน แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. กับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามเข้าขอทำการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ และได้แจ้งผู้เสียหายว่าได้กระทำความผิดฐาน ยักยอก พร้อมแสดงหมายทิพย์ และกลุ่มคนร้ายได้ร่วมกันกรรโชกเงินจากผู้เสียหายเป็นจำนวนเงิน 3,100,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยภายในบ้านมีผู้หญิง เด็กอายุ 9 ปี 6 ปี ผู้เสียหายจึงยินยอมมอบเงินจำนวนดังกล่าวไป และได้มาแจ้งความต่อ สน.หัวหมาก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.สส. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผบก.น.4 ร่วมกันเร่งรัดสืบสวนจับกุมกลุ่มคนร้ายให้ได้โดยเร็ว
เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2566 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.,พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผบก.น.4 พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระรองออย รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.สุพล ค้ำชู รอง ผบก.น.4 พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. ,พ.ต.อ.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ผกก.สส.บก.น.4, พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้วรอง สส.บก.น.4, พ.ต.ท.พีรบูรณ์ แก้วดู รอง ผกก.สส.1 บช.น., พ.ต.ท.เอกศิษฐ์ วรกิตติ์ฐากรณ์ รอง ผกก.สส.1 บช.น. , พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี สว.กก.สส.1 บก.สส.บช.น., พ.ต.ต.กฤตวัฒน์ ขุนอินทร์ สว.กก.สส.1 บก.สส.บช.น., เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนนครบาล (บก.สส.บช.น.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน บก.น.4 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก และ ร.ท.เอกชาติ อ่อนทา หัวหน้าชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชน ที่ 4110 จว.สงขลานำกำลังสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา 3 คน คือ นายยะฝาด อายุ 59 ปี 2.นายธนพัฒน์ อายุ 26 ปี และ 3.นายธนมงคล อายุ 38 ปี
โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันกรรโชกทรัพย์และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น ฯ” พร้อมด้วยของกลาง รวม 25 รายการ
พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 66 เวลาประมาณ 12.30 น. ขณะที่ผู้เสียหายได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักที่เกิดเหตุ ได้มีชายจำนวน 4 คน แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. และเจ้าหน้าตำรวจกองปราบ มาขอทำการตรวจค้นบ้านหลังที่เกิดเหตุ และได้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าได้กระทำความผิดฐาน ยักยอก ต่อมาได้เรียกรับเงินจากผู้เสียหายเป็นจำนวนเงิน 3,100,000 บาท (สามล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) หลังจากนั้นได้หลบหนีไป
และต่อมาวันที่ 13 เม.ย. 66 ผู้เสียหายได้มาพบพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก และให้การยืนยันว่ากลุ่มคนร้ายใช้รถยนต์ ยี่ห้ออิซูซุ มิวเซเว่น สีขาว เลขทะเบียน 1ชง-5306 กรุงเทพมหานคร เป็นยานพาหนะ มาที่บ้านที่เกิดเหตุ และได้ร่วมกันแสดงหมายค้น (ปลอม) ขอเข้าบ้าน และร่วมกันกรรโชกทรัพย์สิน รวมเป็นเงิน 3,100,000 บาท และขณะก่อเหตุกลุ่มคนร้ายไม่ได้ใช้อาวุธในการข่มขู่ผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่ผู้แจ้งเกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ตน ตลอดจนภรรยา, บุตรอายุ 9 ปี กับ 6 ปี และแม่บ้าน อยู่ในบ้านดังกล่าว จึงได้มอบเงินจำนวน 3,100,000 บาท ให้กับกลุ่มคนร้ายไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่นิ่งนอนใจจึงทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อตามหาผู้กระทำความผิด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ร่วมกันก่อเหตุและทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คนพร้อมของกลาง
ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาทั้งสามคนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัว ผู้ต้องหาทั้งสามคน พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า “กลุ่มมิจฉาชีพได้มีการหาช่องทางและกลอุบายในการกระทำความผิดโดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานราชการที่ถูกแอบอ้าง จะไม่ปล่อยให้คนกระทำความผิดลอยนวล และพล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ สืบสวนนครบาลประสานงานกองปราบปรามเร่งรัดดำเนินการขยายผลต่อไป เพราะเชื่อว่าน่าจะมีประชาชนตกเป็นเหยื่ออีก”