หน้าแรก > สังคม

'กรุงเทพฯ ต้องสว่าง' เปิดรับสงกรานต์สีลม-สาทร ไฟถนน LED สว่างครบทั้งเส้นแล้ว

วันที่ 8 เมษายน 2566 เวลา 04:28 น.


'กรุงเทพฯ ต้องสว่าง' เปิดรับสงกรานต์สีลม-สาทร ไฟถนน LED สว่างครบทั้งเส้นแล้ว

(7 เม.ย.66) เวลา 21.00 น. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา​ และสำนักงานเขตบางรัก ลงพื้นที่ติดตามผลการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง บริเวณถนนสีลม เขตบางรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาและเชื่อมต่อการเดินทาง  โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินตามนโยบาย “กรุงเทพฯต้องสว่าง” ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เร่งรัดแก้ไขซ่อมแซมไฟฟ้าดวงที่ดับให้เสร็จโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีการเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากสีลมแล้วยังได้ตรวจสอบและแก้ไขไฟฟ้าแสงสว่างในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณถนนเอกมัย ถนนจักรเพชร ถนนมหาไชย ถนนมหาราช ลานคนเมือง ถนนข้าวสาร ถนนทองหล่อ ย่าน RCA อาทิ ถนนพระรามที่ 4 ถนนเจริญกรุง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนจตุรทิศ ถนนดินสอ และถนนสามเสน อีกด้วย​ ซึ่งระหว่างลงพื้นที่ นายชัชชาติ​ สิทธิพันธุ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ได้เดินทางตามมาสมทบกับคณะเพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ด้วย

รองผู้ว่าฯ วิศณุ เปิดเผยว่า นโยบาย “กรุงเทพฯต้องสว่าง” ทำให้ถนนสีลม-สาทรในขณะนี้ไม่มีไฟฟ้าดับแล้ว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดย กทม. แก้ไขซ่อมแซมไฟฟ้าดวงที่ดับบนถนนสาทร 238 โคม ถนนสีลม 118 โคม ถนนรัชดาภิเษก 141 โคม รวมถึงทางม้าลายถนนวิทยุ 3 โคม ซึ่งจากการรายงานผลการดำเนินการสำรวจตรวจสอบและการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะดับในพื้นที่กรุงเทพฯ (6 เมษายน 66) จำนวน 6,954 เส้นทาง เป็นถนนสายหลักในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา 314 เส้นทาง ซอยย่อยที่สำนักงานเขตดูแล 6,640 เส้นทาง มีจำนวนไฟฟ้าแสงสว่างที่ กทม.ดูแลทั้งหมด 145,314 ดวง ดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าดับแล้ว 25,245 ดวง ยังคงดับอยู่ 398 ดวง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขต่อไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

สำหรับการดำเนินแก้ไขเปลี่ยนหลอดไฟบนถนนสีลม​ ได้ดำเนินการไปถึง 80-90% ในวันนี้น่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบริเวณถนนสีลมอีกด้วย​ ทั้งนี้​ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะทำการเปลี่ยนหลอดไฟที่ดับทั้งหมด​ อาทิ​ บริเวณสะพานลอย​ หรือศาลาที่พักผู้โดยสาร​​ โดยอาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนได้ เนื่องจากอยู่ในอำนาจของหน่วยงานอื่น กทม.ก็จะประสานงานเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไข​ เนื่องจากหลอดไฟในกรุงเทพฯทั้งหมดมีกว่า 3 -4 แสนดวง กทม.มีหน้าที่ดูแลประมาณ 14,000 ดวง อีกส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น​ อย่างไรก็ตามทุกเรื่องที่กทม.ได้รับแจ้งจากสายด่วน กทม.โทร 1555 และ​ Traffy fondue กทม.จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงให้ดำเนินการ

นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับในจุดต่าง ๆ แล้ว กทม. ยังได้ทยอยเปลี่ยนไฟฟ้าแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าเดิมแบบ HPS (Highpressure Sodium) เป็นหลอด LED (Light Emitting Diode) ซึ่งมีอายุการใช้งานนานขึ้นและประหยัดพลังงาน พร้อมระบบติดตามการทำงานของดวงโคมไฟฟ้า (IoT)  ตามแนวคิดของ smart lighting ที่สามารถควบคุมการเปิด-ปิด หรือลด-เพิ่มความเข้มของแสง และตรวจสอบจุดที่ดวงไฟดับได้จากระบบกลาง ซึ่งในเฟสแรกมีเป้าหมายจะเปลี่ยนหลอดไฟ 25,000 ดวง โดยจะแยกการดำเนินการติดตั้งในถนนสายหลักเพื่อเป็นการนำร่องก่อนในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ จำนวน 5,000 ดวง ใน 13 เส้นทาง ได้แก่ 1. ถนนสีลม 2. ถนนเพลินจิต 3. ถนนเยาวราช 4. ถนนโชคชัย 4 5. ซอยมหาดไทย 6. ถนนเอกมัย 7. ถนนพระรามที่ 4 (ช่วงหัวลำโพงถึงสวนลุมพินี) 8. ถนนพระรามที่ 4 (จากซอยอรรถกวี ถึง ถนนสุขุมวิท) 9. ถนนสุทธิสารวินิจฉัย 10. ถนนราชปรารภ 11. ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 12. ถนนเสนานิคม และ 13. ถนนราชดำริ

สำหรับการที่ไฟฟ้าดับมี 3 สาเหตุ คือ 1.ตัวหลอดที่เสื่อมสภาพเองตามอายุการใช้งาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ กทม.สามารถเปลี่ยนได้เอง 2. ตัวสายไฟและอุปกรณ์ได้รับความชื้น เบรกเกอร์ชำรุด กรณีที่เป็นปัญหาเรื่องสายไฟชำรุด สายไฟถูกตัดขาด ต้องแจ้งให้กับการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาช่วยซ่อมซึ่งอาจจะใช้เวลา 3. การถูกขโมยสายไฟ หลายจุดได้เข้าไปแก้ไขแล้วแต่ไม่นานก็ดับอีกเนื่องจากสายไฟถูกขโมย ทั้งนี้ประชาชนสามารถร่วมกันเป็นหูเป็นตาได้ หากพบเห็นบุคคลต้องสงสัยขโมยสายไฟสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที หรือพบจุดเกิดเหตุ จุดที่ไฟดับ จุดที่มืดเปลี่ยว สามารถแจ้งกับ กทม. ผ่านทางสายด่วนกทม. โทร.1555  หรือช่องทาง Traffy fondue 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม