หน้าแรก > สังคม

"หมอล็อต" แนะวิธีปฐมพยาบาลสัตว์ป่าบาดเจ็บจากไฟไหม้ป่าเบื้องต้น

วันที่ 30 มีนาคม. 2566 เวลา 14:35 น.


"หมอล็อต" แนะวิธีปฐมพยาบาลสัตว์ป่าบาดเจ็บจากไฟไหม้ป่าเบื้องต้น ย้ำ! หากไม่แน่ใจถึงความปลอดภัย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือสายด่วน 1362 ทันที

นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ "หมอล็อต" สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดนครนายก ว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก พร้อมในการช่วยเหลือสัตว์ป่า ทั้งจากการแจ้งผ่านสายด่วน 1362 หรือการแจ้งโดยตรงหรือจะนำมาส่งที่ศูนย์ฯ 

อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด คือ การช่วยเหลือที่เร็วที่สุด ไม่ว่าใครก็ตาม ดังนั้น ทุกคนเป็นผู้ช่วยเหลือได้ แต่ต้องประเมินความปลอดภัยต่อตนเองในเบื้องต้นด้วย หากไม่แน่ใจให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เนื่องจากเมื่อไฟป่าเกิดขึ้น สัตว์ป่าที่ถือว่าเป็นเจ้าของบ้านจะเกิดอาการตกใจ และใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดด้วยการหนีอย่างขาดสติ สิ่งที่ตามมานั้นอาจไม่ได้เกิดจากไฟโดยตรง อาจมาจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่หนีเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็น แผลไฟไหม้ ร่างกายขาดน้ำ สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ท้องอืดในสัตว์กีบ เลือดออกจากบาดแผล และกระดูกหัก นี่คือสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชน ซึ่งง่ายต่อการล่า

สถานการณ์ในตอนนี้มีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน ประชาชน และอาสาสมัครได้มุ่งมั่นทุ่มเทและเสี่ยงชีวิตในการรักษาบ้านของสัตว์ป่าและทรัพย์สินของพวกเขา แต่ความเสียหายบางอย่างของสัตว์ป่า ในฐานะเจ้าของป่า ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเองและเอาตัวรอดน้อยมาก ๆ เรามาเพิ่มศักยภาพให้กับ "คนสู้ไฟ" ในการปฐมพยาบาลสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บตามอาการต่าง ๆ ก่อนถึงมือสัตวแพทย์ ขอย้ำนะครับ ก่อนถึงมือสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ทางหมอล็อตใช้อบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งทหารและตำรวจตระเวนชายแดน เอาแบบเข้าใจง่าย ๆ และทุกคนทำได้

แผลไฟไหม้
แผลไฟไหม้ จะทำให้ผิวหนังลอกหลุด สิ่งที่ตามมาคือสัตว์จะเป็นแผลบริเวณกว้าง เสียน้ำได้ง่าย และติดเชื้อเข้าที่แผลได้ง่าย
ให้ล้างแผลด้วยเบตาดีนเจือจาง ใช้ผ้าสะอาดเช็ดเศษเนื้อเยื่อและเศษหนองออก แล้วพันผ้าพันแผลที่ชุ่มน้ำเกลือพันให้มิดชิด พร้อมยาปฏิชีวนะชนิดครีม บางคนอาจใช้ใบตองสะอาดพันแผลด้านในสุด ก็จะช่วยไม่ให้แผลติดผ้า

ขาดน้ำ
สัตว์ที่โทรมมาก ไม่สามารถหาน้ำกินได้หลายวันอาจขาดน้ำ มีลักษณะตาลึกโบ๋ จมลงไปในเบ้าตา ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เมื่อดึงขึ้นมาแล้ว ไม่ดีดตัวกลับ ตัวเย็น หัวใจเต้นรัวแต่เบา ให้คะเนน้ำหนัก ปริมาณน้ำเกลือที่ให้จะเท่ากับ หนึ่งในสิบของน้ำหนักตัว ต่อวัน เช่นสัตว์หนัก 50 กิโลกรัม ควรให้น้ำเกลือไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ลิตร แล้วค่อย ๆ กรอกน้ำเกลือลงในกระเพาะอาจใช้สายยางสอดเข้าไปในกระเพาะ ใช้ไม้ค้ำปากไม่ให้งับสายยาง ให้มองดูว่าสายยางเข้าไปในหลอดอาหาร ไม่ได้เข้าไปในหลอดลม หลอดลมจะมีช่องที่เปิด ปิดเมื่อหายใจ ให้น้ำเกลือทีละน้อย แต่บ่อย ๆ น้ำเกลือ ใช้ เกลือแกงหนึ่งช้อนโต๊ะ ชงกับน้ำ 1 ลิตร หรือใช้น้ำเกลือสำหรับนักกีฬาก็ได้ อย่าลืมตั้งน้ำสะอาดให้สัตว์กินได้ตามต้องการ สภาพที่บ่งว่าสัตว์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คือสัตว์ถ่ายปัสสาวะได้ เบ้าตาเต็ม

สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
ใช้น้ำสะอาด ล้าง ออก หากเป็นของแหลมทิ่มแทงให้เอาออก หากเลือดออกให้หลับตาสัตว์ลงแล้วกดแรงพอประมาณสักครู่

ท้องอืด ในสัตว์กีบ
ท้องอืด จะมีอาการท้องแข็ง หายใจลำบาก ถ้าท้องใหญ่มากจะกดการหายใจ จนตายได้ อาจเกิดจากการอุดตัน การกินอาหารผิดแปลกไปจนเกิดลมในช่องท้องมาก ล้มนอนนาน เกินไป หรือ ตื่นเต้นตอนถูกวิ่งไล่จับ ให้หาสายยางสวนเข้าไปทางหลอดอาหารเพื่อเป็นทางระบายลมออกมา เมื่อช่วยระบายลมออกมาแล้ว ท้องจะไม่แข็ง เมื่อกดแล้วจะนิ่มยุบเข้าไปได้

ภาวะเลือดออกจากบาดแผล
สังเกตดูว่าชนิดของเลือดออก เป็นเลือดที่ออกจากเส้นเลือด หรือจากบาดแผลเฉย ๆ ถ้าเลือดออกจากเส้นเลือดแดงจะมีลักษณะพุ่งเป็นจังหวะชีพจร ให้รีบรัดเหนือแผล พร้อมทั้งกดปากแผล พันผ้าให้มีแรงกดที่ปากแผล สักพักเลือดจะหยุดได้เอง การรัดขันชะเนาะอย่าให้แน่นมาก และควรคลายทุก ๆ 10 นาที หากเป็นการที่เลือดไหลจากบาดแผลธรรมดา อาจไม่ต้องรัดเหนือแผล เพียงแค่กดปากแผลและหาผ้าพันก็พอแล้ว ทั้งสองกรณี อาจช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้นโดยการดามไม่ให้ปากแผลเคลื่อนไหวได้ สัตว์ที่เสียเลือดมาก จะดูได้จากเหงือกที่ซีดมาก เมื่อกดเหงือกแล้วปล่อย เหงือกจะคืนกลับมาเป็นสีชมพูได้ โดยใช้เวลานานกว่าสองวินาที อาจต้องเสริมน้ำและเกลือแร่ให้ สิ่งที่บอกว่าสัตว์เริ่มมีน้ำในร่างกายเพียงพอได้แก่สัตว์เริ่มถ่ายปัสสาวะได้ ถ้าทำได้ ให้ใช้กรรไกรตัดขน หรือใช้มีดโกนโกนขน ไม่ให้ขนเข้าแผล จะทำให้แผลหายช้า

กระดูกหัก
สิ่งที่บอกว่าสัตว์กระดูกหัก คือ 1) สัตว์มีความเจ็บปวดมาก บริเวณที่หัก 2) มีเสียงกระดูกที่หักงัดกันดังกุกกัก 3) ขาบิดเบี้ยวผิดรูปจากรูปร่างปกติ 4) สัตว์ไม่ลงน้ำหนักในขานั้นเวลาเดิน ชนิดของกระดูกหัก หักแบบมีแผลเปิด หักแบบไม่มีแผลเปิด กระดูกร้าวแบบไม้สดแตก ข้อหลุด ถ้าหักแบบมีแผลเปิด ให้จับอยู่ในท่าปกติมากที่สุด อาจดึงยืดออกเล็กน้อย ระวังอย่าให้ปลายกระดูกที่แหลมคมบาดเส้นเลือด เส้นประสาท กล้ามเนื้อ แล้ว ห้ามเลือด พันผ้ารองหนึ่งชั้น แล้วพันดามด้วยไม้คร่อม สองข้อที่กระดูกชิ้นนั้นหัก ถ้าหักแบบไม่มีแผลเปิด กระดูกร้าว หรือข้อหลุด ให้พยายามดึงออกให้ยืด แล้วพันผ้า ดามเหมือนข้างต้น

หมอล็อต ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่าคิดนะครับว่า การล้มหายตายจากของสัตว์ป่าจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่ง ไม่เป็นไรหรอก ที่อื่นก็ยังมีเหลือ สิ่งสำคัญของการอยู่รอดของสัตว์ป่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหลือจำนวนเท่าไหร่ เราต้องจะมองให้ลึกไปถึงความเข้มแข็งและความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต้องหายไปด้วย จากการตายของสัตว์ป่าหนึ่งตัว นี่แหละคือความสูญเสียที่นำกลับมาไม่ได้ นอกจากขวัญและกำลังใจของ คนสู้ไฟแล้ว อาวุธทางปัญญานี่แหละ ที่จะช่วยให้ทุกชีวิตผ่านพ้นเหตุการณ์อันเลวร้าย และอยู่รอดไปด้วยกัน

ด้านนายทวีป ล้อมวงษ์ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก เปิดเผยว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ป่ามาอยู่ที่กองอำนวยการ 1 ชุด และคลินิกสัตว์ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 1 ชุด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ไฟป่ายังไม่ดับ เนื่องจากเป็นเขาสูงชัน การเข้าดับไฟไหม้ป่าต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ จาก ปภ. เข้าการดับไฟอย่างต่อเนื่อง พบสัตว์ป่าประสบภัยไฟไหม้ป่าแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง  

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม