หน้าแรก > สังคม

คืบหน้าการดูแล "มีนา" ลูกช้างป่าพลัดหลง ล่าสุดสัตวแพทย์เข้าประเมินอาการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรค

วันที่ 29 มีนาคม. 2566 เวลา 04:38 น.


คืบหน้าการดูแล "มีนา" ลูกช้างป่าพลัดหลง ล่าสุดสัตวแพทย์เข้าประเมินอาการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรค

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่เปิดคลิปนาทีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ "น้องมีนา" ลูกช้างป่าขึ้นจากบ่อน้ำของชาวบ้านริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นางสาวพรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ รายงานว่า ทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เข้าดำเนินการตรวจประเมินสุขภาพลูกช้างป่า “มีนา” ผลการตรวจประเมินพบว่า พฤติกรรมโดยรวมมีความร่าเริงดี สามารถนอนหลับได้ พบว่ามีระยะเวลาการนอนหลับต่อครั้งนานขึ้นกว่าวันแรก ๆ เดินเล่นได้ดี มีความอยากอาหารดี ดูดกินนมจากขวดนมเองได้ครั้งละ 1 ลิตร วันนี้ปรับเพิ่มความถี่ในการป้อนนมให้บ่อยขึ้นในช่วงเช้าถึงเย็น เป็นทุก 1.5 - 2 ชั่วโมง

ผสมยาน้ำช่วยขับลม ส่วนตอนกลางคืนประเมินความถี่ในการป้อนนมตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ที่จะไม่รบกวนแผนการส่งคืนลูกช้างหากมีโขลงช้างมาใกล้เคียง (ปริมาณนมรวมที่กินได้ทั้งวัน 10 ลิตรขึ้นไป) ล้างปากด้วยน้ำสะอาดหลังป้อนนม
ด้านการขับถ่ายปัสสาวะ โดยรวมขับถ่ายปัสสาวะได้เองปกติเป็นสีเหลืองใส สีเหลืองอ่อนใส วันละ 2 ครั้งขึ้นไป การขับถ่ายอุจจาระ ในช่วงสองวันที่ผ่านมา หลังจากป้อนนมทดแทนชนิด Enfalac ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อประเมินระบบย่อยอาหาร พบว่าสามารถขับถ่ายอุจจาระเป็นก้อนนิ่มได้เอง โดยรวมวันละ 1 ครั้ง

สำหรับการอักเสบของลูกตาทั้งสองข้างดีขึ้นจากวันแรก ไม่ค่อยมีขี้ตา ยังมีน้ำตาไหลบ้าง เยื่อตาขาวแดงเล็กน้อย สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการล้างตาและหยอดตาอย่างต่อเนื่อง รอยปิดบริเวณสะดือลูกช้างดีขึ้น ตื้นขึ้นมากกว่าวันแรก มีความลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ไม่พบหนอง ไม่มีกลิ่นเหม็น สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการล้างสะดือและใส่ยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังหนอนแมลงวัน ร่างกายมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย ไม่พบบาดแผลรุนแรง ทำการพ่นสเปรย์ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง นอกจากนี้ทำการตรวจช่องปาก พบว่ามีเยื่อเมือกสีชมพูปกติ มีแผลถลอกเป็นเนื้อตายสีขาวบริเวณเพดานบนช่องปาก ส่วนใต้ของงวงเป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้าง และบริเวณปากด้านล่างเล็กน้อย สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการใช้น้ำสะอาดล้างปากหลังป้อนนมทุกครั้ง และพ่นสเปรย์ยาฆ่าเชื้อให้ เสริมวิตามินซีแบบเม็ดให้กินทุกวัน

สรุปการประเมินสุขภาพทั่วไปของลูกช้าง ในขณะนี้ไม่พบภาวะฉุกเฉินของร่างกายที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามสุขภาพในแต่ละวัน ดูแลอนุบาลตามแผนที่เหมาะสม เน้นความสำคัญเรื่องไม่ให้ลูกช้างเกิดความเครียด โดยสัตวแพทย์ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่าง ได้แก่ ตัวอย่างสวอปช่องปาก, สวอปก้น, เจาะเก็บเลือดที่เส้นเลือดบริเวณใบหู เพื่อส่งตรวจประเมินสุขภาพเบื้องต้น (ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ค่าทางชีวเคมีของเลือด) และตรวจหาโรคติดเชื้อต่างๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอผลตรวจต่อไป

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม