หน้าแรก > สังคม

ผู้ว่าฯ กทม. แจง ”สวนชูวิทย์” ไม่เป็นที่ดินสาธารณะ พบเสียภาษีที่ดิน ส่วนกรณีเก็บค่าผ่านทางสะพานข้ามคลองพระโขนง ขอศึกษาก่อน

วันที่ 27 มีนาคม. 2566 เวลา 17:24 น.


เมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสื่อให้ตรวจสอบ "สวนชูวิทย์" ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ถึงความชัดเจนในการยกที่ดินเป็นสาธารณสมบัติว่า ได้รับรายงานจาก นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เบื้องต้นข้อมูลที่เป็นเอกสารจากกทม. พบว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่สาธารณะ กทม.ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด ยังเป็นที่ดินเอกชนอยู่ และมีการจ่ายภาษีที่ดินต่อเนื่องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา การจ่ายภาษีรวม 3,000,000 บาท ขณะเดียวกัน ในการยกที่ดินให้เป็นสาธารณะ เข้าใจว่าเกิดขึ้นในกระบวนการชั้นศาลฎีกาซึ่ง กทม.ไม่มีข้อมูล จึงได้มอบหมายให้ปลัด กทม. ทำหนังสือขอคัดลอกคำพิพากษาหรือคำให้การในศาลฎีกา ว่ามีแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายอย่างไร และข้อมูลที่แสดงเจตจำนงทั้งถ้อยแถลงและเจตนา ซึ่งทางศาลไม่ได้แจ้งข้อมูลส่วนนี้ ต้องไปดูรายละเอียดให้ชัดเจน

สำหรับที่ดินสวนชูวิทย์ที่กำลังก่อสร้างนั้น ไม่มีข้อกฎหมายสั่งให้ยุติการก่อสร้าง มีเพียงหนังสือจากสำนักการโยธา (สนย.) แจ้งไปยังเจ้าของที่ดินเตือนถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้น และหากจะดำเนินก่อสร้างแล้วเกิดปัญหาภายหลัง ต้องรับความเสี่ยงและรับผิดชอบเอง ซึ่งจะต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนการเก็บค่าผ่านทางบริเวณสะพานข้ามคลองพระโขนงนั้น เบื้องต้นเข้าใจว่าทางสะพานที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะที่ใช้ข้ามคลอง ซึ่งประเด็นคือทางสาธารณะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง เรื่องนี้ทางกทม.ขอรับไปตรวจสอบซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยาก เนื่องจากการดำเนินการทุกอย่างนั้นเป็นไปตามระเบียบของทางราชการอยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการดำเนินการแต่ต้องดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การปฏิบัติตามระเบียบ EIA ซึ่งการบังคับใช้ตามกฎหมายกทม.ต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว โดยตามหลักการหากก่อสร้างบนที่ดินของเอกชน เอกชนสามารถดำเนินการเก็บค่าผ่านทางได้ จึงต้องขอตรวจสอบในแง่ของการอนุญาตก่อสร้างสะพานและจุดประสงค์ของการสร้างสะพานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างสะพานต้องมีการขออนุญาตกรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด ดังนั้นต้องตรวจสอบว่าเงื่อนไขในการก่อสร้างสะพานมีจุดประสงค์เพื่ออะไรเพื่อสาธารณะหรือขอเป็นทางส่วนตัวของเอกชน ซึ่งการตรวจสอบจะมอบหมายให้ทางสำนักงานเขตวัฒนาเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้การก่อสร้างสะพานผ่านพื้นที่เอกชนหรือหมู่บ้านในรูปแบบนี้มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม