หน้าแรก > สังคม

กทม.จับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมพลัง "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน"

วันที่ 26 มีนาคม. 2566 เวลา 05:21 น.


กทม.จับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมพลัง "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน"

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ป็นประธานเปิดงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก" ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และภาคีเครือข่าย ภายใต้  การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดขึ้น ในวันที่ (25 มี.ค.66)

สำหรับงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2566 เวลา 16.30 - 21.30 น. ณ บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เพื่อเปิดมุมมองเรื่องการใช้พลังงานในเมือง พร้อมทั้งรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการลดการใช้พลังงาน และมีส่วนร่วมการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในงาน คือ กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” (60+ Earth Hour 2023)  

ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร สถานที่ ให้ความร่วมมือปิดไฟในช่วงดังกล่าว รวมถึง 5 Landmark หลัก ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง  วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร  เสาชิงช้า  สะพานพระราม 8  และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย ซึ่งจากการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยการไฟฟ้านครหลวง พบว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ในครั้งนี้สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 36 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน หรือเทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ จำนวน 43 เที่ยวบิน หรือการใช้รถยนต์ดีเซลเท่ากับ 31,200 กิโลเมตรหรือเทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 23,400 ครัวเรือน

กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการคือกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน รณรงค์ในกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2551 ผลจากการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ  1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) เมื่อปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 20 ตัน และคิดเป็นมูลค่า 176,172 บาท และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 - 2565 สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 22,476 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้  12,255 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาท

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม