หน้าแรก > สังคม

ปลัดฯ กทม. ติดตามการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตบางเขน จับมือบูรณาการทุกภาคส่วนระบายน้ำออกจากพื้นที่

วันที่ 22 มีนาคม. 2566 เวลา 00:37


ปลัดฯ กทม. ติดตามการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตบางเขน จับมือบูรณาการทุกภาคส่วนระบายน้ำออกจากพื้นที่

(21 มี.ค.66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เขตบางเขน ว่า การประชุมวันนี้เริ่มจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาตรวจเยี่ยมเขตบางเขนในช่วงที่น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็มีความห่วงใยว่าปีนี้ไม่อยากให้เกิดน้ำท่วมในเขตที่มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด อาทิ เขตหนองจอก ลาดกระบัง ประเวศ สวนหลวง หลักสี่ ดอนเมือง และเขตบางเขน ซึ่งเราจะทำแผนเฉพาะกิจทุกพื้นที่ สำหรับวันนี้มาลงพื้นที่เขตบางเขน มีพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ๆ ประมาณ 5 จุด จุดแรกก็คือวงเวียนบางเขน จุดที่ 2 คือด้านเหนือของถนนรามอินทราตั้งแต่ซอย 39 ขึ้นไป จุดที่ 3 ถนนพหลโยธิน บริเวณสะพานใหม่ ที่มีก่อสร้างสะพานเชื่อมออกถนนวิภาวดีรังสิต จุดที่ 4 ชุมชนวัชรปราณี รามอินทรา และจุดที่ 5 บริเวณเวิ้งภายในซอยลาดปลาเค้า

ปัจจุบันทั้ง 5 จุด เขตฯ ได้เตรียมแผนป้องกันเพื่อในปีนี้จะไม่ให้เกิดน้ำท่วม สำหรับจุดแรกวงเวียนบางเขน ได้มีการประชุมร่วมกันทั้งภาคเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัท ชิโน-ไทย กรมทางหลวง ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก รามอินทรา รวมทั้งสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันปรับปรุงบริเวณโดยรอบทั้งหมดให้มีการรองรับน้ำมากขึ้น จะมีแก้มลิงเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง แห่งแรกรับน้ำได้ 1,500 ลูกบาศก์เมตร และอีกแห่งรับน้ำได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อรองน้ำฝนบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม คราวที่แล้วที่สูบน้ำเท่าไหร่ก็ไม่ลดเนื่องจากมีรอยรั่วจากคลองลาดพร้าว เมื่อระดับน้ำสูงเกินไปน้ำก็จะรั่วเข้ามา ฤดูฝนนี้จะปิดบริเวณดังกล่าว เพื่อปิดล้อมพื้นที่ในการเอาน้ำออกจากบริเวณนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำรองรับตามจำนวนที่กำหนดไว้ ด้านเหนือเกาะสูบออกคลองรางอ้อ-รางแก้ว ด้านใต้สูบออกถนนพหลโยธินบริเวณคลองวัดบางบัว

ส่วนศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก รามอินทรา (สนามกอล์ฟกองทัพบก) รับปากว่าจะไม่ระบายน้ำออกทางถนนรามอินทรา จะระบายน้ำไปออกด้านหลังออกคลองหลุมไผ่ และคลองลาดพร้าว อีกส่วนหนึ่งจะหาทางระบายน้ำไปทางอื่นผ่านพื้นที่ราบ 11 เดิม จะเข้าไปดูว่าจะทำให้ระบบน้ำหมุนเวียนอย่างไร เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดอ่อน ส่วนอีก 3 จุดที่มีน้ำท่วมด้านเหนือของถนนรามอินทรา มีท่อลอดอยู่ 2 แห่ง ตรงประมาณ กม. 4 ซึ่งอาจจะระบายน้ำได้ช้า กรมทางหลวงจะรับไปขยายท่อลอดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น กรุงเทพมหานครก็จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำที่มาเติมทางด้านเหนืออาจจะกั้นน้ำและช่วยสูบออกไปลงสะพานใหม่ออกคลองลาดพร้าว ปัญหาน่าจะหมดไปเพราะน้ำจะระบายออกทั้ง 2 ทาง ปัญหาน้ำท่วมบริเวณซอย 39 ซอย 37 ซอย 31 รวมทั้งหมู่บ้านบริเวณด้านนั้นก็จะดีขึ้น นอกจากนี้สำนักการโยธาและสำนักงานเขตจะทำการปรับปรุงซอย 39 และถนนสุขาภิบาล 5 ให้สูงขึ้นและมีมาตรฐาน ซึ่งจะของบกลางปี 66 คาดว่าในปีต่อไปสถานการณ์จะดีขึ้นมากกว่านี้

ส่วนด้านตลาดยิ่งเจริญ ถนนพหลโยธินที่ก่อสร้างสะพาน เดิมทีเดียวจะมีน้ำจากคลองไผ่เขียวไหลออกไปทางคลองลำผักชี ลงคลองลาดพร้าว คราวที่แล้วน้ำไหลไม่สะดวก ปัจจุบันจะตั้งเขื่อนและสูบน้ำออกคลองลำผักชีโดยตรง ซึ่งก็จะทำให้น้ำในพื้นที่เขตสายไหมออกทางด้านเหนือ ไม่เข้ามาในเมือง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำในเขตบางเขนและสายไหม น้ำก็จะไม่ท่วม ในส่วนสุดท้าย ชุมชนวัชรปราณี รามอินทรา จะเปลี่ยนจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำใหม่ กรมทางหลวงก็จะทำท่อลอดจากทางด้านบนบริเวณถนนวัชรพลให้ดีขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานเขตบางเขน ลอกคลองเกือบหมดแล้วเหลืออีก 4 คลอง ซึ่งได้ประสานกับสำนักการระบายน้ำ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. 66 ส่วนท่อระบายน้ำได้ทำการลอกหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมแผนไว้สำหรับเกิดเหตุน้ำท่วมด้วย หากเกิดเหตุแล้วเราจะทำอะไร จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไรให้สะดวก ขณะนี้ทุกอย่างน่าจะลงตัวมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คาดว่าปีนี้เขตบางเขนน้ำจะไม่ท่วม

 

 


ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม