วันที่ 19 เมษายน 2568 เวลา 10:01 น.
สำนักข่าวซินหัว รายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศการขึ้นทะเบียนชุดมรดกเอกสารที่จีนยื่นเสนอ จำนวน 3 รายการ เข้าสู่บัญชีความทรงจำแห่งโลก (MOW) แห่งยูเนสโก
มรดกเอกสารทั้งสามรายการข้างต้นแบ่งเป็นที่จีนยื่นฝ่ายเดียว 2 รายการ ได้แก่ “เปียนจง” (ระฆังแถว) ของเจิงโหวอี่ และศิลาจารึกของวัดเส้าหลิน กอปรกับที่จีนยื่นร่วมกับศรีลังกา 1 รายการ ได้แก่ จารึกสามภาษา
ยูเนสโกระบุว่าระฆังเปียนจงของเจิงโหวอี่เป็นชุดระฆังสัมฤทธิ์โบราณที่ขุดพบปี 1978 จากสุสานเจิงโหวอี่ในเมืองสุยโจว มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ซึ่งมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับดนตรีจีนยุคโบราณ และคำจารึกที่ถือเป็นบันทึกทางโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ในดนตรี
ส่วนศิลาจารึกของวัดเส้าหลิน (ปี 566-1990) ประกอบด้วยศิลาจารึกของวัดเลื่องชื่อแห่งนี้ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จำนวน 499 ชิ้น ถือเป็นชุดเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสอดคล้องต้องกันในรูปแบบของจารึกหินที่สามารถสืบย้อนความเก่าแก่กลับไปถึงปี 1424
ขณะจารึกสามภาษาเป็นแผ่นหินจากวันที่ 15 ก.พ. 1409 ซึ่งจารึกข้อความภาษาจีน เปอร์เซีย และทมิฬ เพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระวิษณุ และพระอัลเลาะห์ โดยยูเนสโกระบุว่านี่เป็นจารึกสามภาษาสามอารยธรรมชิ้นเดียวที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งเจิ้งเหอ ผู้บัญชาการเรือจีนโบราณ ตั้งขึ้นระหว่างการเดินทางครั้งหนึ่ง
อังเดร อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวว่ามรดกเอกสารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เปราะบางของความทรงจำแห่งโลก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยูเนสโกทุ่มทุนเพื่ออนุรักษ์มรดกเอกสาร แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และขึ้นทะเบียนมรดกเหล่านี้ที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไว้
ทั้งนี้ ปัจจุบันความทรงจำแห่งโลกรวมอยู่ที่ 570 รายการ ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากมาย เช่น การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ บทบาทของสตรีต่อประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญอันเป็นหมุดหมายของพหุภาคีนิยม