วันที่ 19 มีนาคม. 2566 เวลา 11:37 น.
ตำรวจสอบสวนกลาง โดย ปคบ. ร่วม สบส. รวบ 2 หมอเถื่อน ตรวจค้นคลินิก 2 จุด เปิดคลินิกรักษาโรคให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันจับกุมแพทย์เถื่อน และคลินิกเถื่อน เปิดทำการรักษาโรคทั่วไปให้ประชาชน ตรวจค้น 2 จุด จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการประสานจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ว่ามีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ทำการตรวจสอบคลินิกที่เปิดดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และรักษาโดยแพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีการเปิดคลิกนิกโดยมีบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ทำการรักษาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง จนนำไปสู่การตรวจค้นจับกุมในครั้งนี้
ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมสถานพยาบาล จำนวน 2 จุด รายละเอียดดังนี้
1. “คลินิกเวชกรรม” ตั้งอยู่บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา(เคะร่มเกล้า 31) แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบ นายรัฐภูมิ (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง แพทย์ที่ทำการรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยนาย รัฐภูมิ ฯ รับว่าตนเองเคยมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลกว่า 13 ปี จากนั้นเดินทางไปศึกษาแพทย์ที่ต่างประเทศ แต่เรียนไม่จบ ด้วยใจรักในวิชาชีพแพทย์และอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง จึงมาเปิดสถานพยาบาลดังกล่าว และอ้างตัวเป็นแพทย์ รักษาประชาชน มาได้ประมาณ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม นาย รัฐภูมิฯ และได้ตรวจยึดเครื่องมือแพทย์, ผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิด และเวชระเบียนผู้มารับการรักษา กว่า 30 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
2. คลิกนิกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณซอย ไทธานี 6 ถนนนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบว่าขณะตรวจค้นคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบนายกฤตษ์ศรัณย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาประชาชนอยู่ในสถานพยาบาลดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวมีใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาลถูกต้อง แต่ นาย กฤตษ์ศรัณย์ฯ ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำการตรวจรักษายอมรับว่า ตนเองยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยนาย กฤตษ์ศรัณย์ฯ รับว่าตนเองเรียนจบระดับปริญญาตรี สาขาแพทย์ศาสตร์จากต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างฝึกงาน ณ โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง และอยู่ระหว่างเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพ ในระหว่างรอสอบใบประกอบวิชาชีพจึงทำการรักษาให้บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม นาย กฤตษ์ศรัณย์ฯ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.
รวมตรวจค้นคลินิก 2 จุด แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา 2 ราย ดังนี้
1. นาย รัฐภูมิ(สงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”
2. นาย กฤตษ์ศรัณย์(สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต”
เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 2 รายให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรคต่างๆตามสถานพยาบาลควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ รวมถึงบุคคลที่อ้างว่าจบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จากต่างประเทศ แต่ยังสอบไม่ผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศ ถือว่ายังไม่เป็นผู้อนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ยังไม่สามารถแสดงตัวเป็นแพทย์รักษาประชาชนตามคลินิกได้ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค