วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 21:15 น.
วันนี้ (3 เม.ย.68) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 3 ปภ. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และผู้ให้บริการเครือข่าย ทั้ง AIS TRUE และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เร่งดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติแก่ประชาชน และเดินหน้าวางแนวทางการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเร่งด่วนให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นระบบให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนและหลังระบบ Cell Broadcast เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงพี่น้องประชาชน ในวันนี้ ปภ. ได้เชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และผู้ให้บริการเครือข่าย ทั้ง AIS TRUE และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ร่วมหารือในแนวทางการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ SMS กรณีแผ่นดินไหว ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติ (SOP) ในการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวบนบก เพื่อลดขั้นตอนในการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะเป็นผู้ส่งข้อความแจ้งเหตุแผ่นดินไหวให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโดยตรง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการเกิดแผ่นดินไหวในทันทีเป็นข้อความแรก หรือ First Message เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานการเกิดแผ่นดินไหว ต่อจากนั้น ปภ. จะดำเนินการต่อเพื่อกระจายข้อความเกี่ยวกับผลกระทบและคำแนะนำการปฏิบัติตัวสู่ประชาชน โดย ปภ.จะส่งข้อความไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโดยตรงเช่นกัน ซึ่ง ปภ. ได้มีแนวทางปฏิบัติ (SOP) ไว้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กสทช. จะเป็นหน่วยกำกับดูแลและประสานการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
นายภาสกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในระหว่างที่ cell broadcast กำลังพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเต็มระบบในเดือนกรกฎาคม 2568 นี้ ที่ประชุมตกลงร่วมกันว่าจะใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ไปพลางก่อน เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว โดย Virtual Cell Broadcast นั้นมีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ากับระบบ Cell Broadcast หากเกิดภัยพิบัติหรือมีความจำเป็นที่ต้องส่งการแจ้งเตือน ประชาชนจะได้รับข้อความการแจ้งเตือนทั้งเสียงและข้อความปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ทันที สำหรับในกรณีที่บางอุปกรณ์ไม่รองรับระบบ Cell Broadcast จะใช้ช่องทางการส่งข้อความสั้นหรือ SMS ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายได้ปรับปรุงกระบวนการให้มีความรวดเร็วมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ หลังจากนี้ ปภ. มีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กเดินหน้าทบทวนแผนและแนวทางปฏิบัติของ ปภ. ให้สอดรับกับแนวทางข้างต้นให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบเตือนภัย ผ่าน SMS หรือ Cell Broadcast เป็นวิธีการหนึ่งในการแจ้งเตือนภัย แต่ภาครัฐจะมีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งสื่อมวลชน Social Media แพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ รวมถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
4 เมษายน 2568
4 เมษายน 2568