วันที่ 29 มีนาคม. 2568 เวลา 23:32 น.
กองปราบปราม ส่งมอบเงิน 33 ล้านบาท แก่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง
กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ บก.ป. ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) นำโดย นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วยนายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. สืบสวนตรวจสอบที่มาเงินสดจำนวน 33 ล้านบาท ที่ทางตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ทำการตรวจยึดจากการปฏิบัติการจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิด พร้อมดำเนินการส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ได้ทำการสืบสวนติดตามเส้นทางการเงินของกลุ่มเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ crown 168 โดยพบพยานหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำผิด จากนั้นจึงได้ดำเนินการระดมกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 44 คน ยึดทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 70 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงได้มีการขยายผล พบบัญชีม้าในรูปแบบบริษัทฯ กว่า 27 บัญชี รวม 22 บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ทั้งหมด เปิดบริษัทฯ ขึ้นมาบังหน้า ไม่มีการดำเนินการตามจุดประสงค์ที่ขอจดทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบอย่างละเอียดยังพบว่ามีการใช้บัญชีในรับเงินและจ่ายเงินให้กับเว็บพนันออนไลน์กว่า 10 เว็บไซต์
ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการสืบสวนเส้นทางการเงินของบริษัท จี เอ็นเค เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้ถอนเงินสดของกลุ่มเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว โดยพบว่าบัญชีธนาคารของบริษัทนี้ถูกใช้ฟอกเงินให้กับนักธุรกิจสีเทา ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแก๊งค้ายาเสพติด ต่อในวันที่ 2 ต.ค.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำกำลังเข้าจับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว ภายใต้ปฏิบัติการ “ขยี้ดวงใจทศกัณฐ์” โดยสามารถยึดเงินสดจำนวนกว่า 33 ล้านบาท ซึ่งภายหลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทราบว่าบัญชีธนาคารนิติบุคคลของเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์เหล่านี้ มีการถูกใช้เป็นบัญชีรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแจ้งความผ่าน CASE ID ของศูนย์ AOC จำนวนกว่า 20 ราย หนึ่งในนั้นคือ นายไพรสัณต์ จันทร์สุริยวงศ์ อดีตพนักงาน กฟผ. วัยเกษียณ อายุ 81 ปี เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถูกหลอกดูดเงิน สูญ 22 ล้านบาท เครียดจนน้ำหนักลงไป 4-5 กิโลกรัม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แพทย์ต้องให้ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนให้หลับ เหลือบัญชีละ 100 บาท เหตุเกิดเมื่อ 9 มิ.ย.67
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. จึงได้ประสานข้อมูลไปยัง สำนักงาน ปปง. เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว จากนั้น สำนักงาน ปปง. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ป. จึงได้ร่วมกันสืบสวนตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนนำมาสู่การมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 63/2568 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ของ สำนักงาน ปปง. ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดได้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2567 จำนวน 33 ล้านบาท
สำนักงาน ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายรายคดีดังกล่าวยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 23 มิ.ย.2568 โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีดังกล่าวสามารถยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทางช่องทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th สำนักงาน ปปง. ขอย้ำเตือนประชาชนทุกท่านให้ระวังมิจฉาชีพปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. หลอกว่าท่านมีคดีฟอกเงินติดตัว ต้องโอนเงินไปตรวจสอบ หรืออ้างว่าจะช่วยเหลือผู้เสียหาย ในการขอรับเงินคืน หรือหลอกให้กดลิงก์ลงทะเบียนขอรับเงินคืนทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ สำนักงาน ปปง. ไม่มีระบบการรับลงทะเบียน/รับคำร้องเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายทางสื่อสังคมออนไลน์ ทุกประเภท รวมทั้งไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ในการยื่นคำร้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 (ในวันและเวลาราชการ)