วันที่ 14 มีนาคม. 2568 เวลา 10:54 น.
14 มีนาคม 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงทุ่งพญาไทและแขวงถนนพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร
การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยกำหนดให้พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ครอบคลุม ประมาณ 3 ไร่ 31 ตารางวา เป็นโบราณสถาน เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองสัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไว้
ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุ
"อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เพื่อเทิดทูน วีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 5.0 ถนนพหลโยธิน โดยที่ กม. 0 ของถนนพหลโยธินอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นลักษณะของดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน
ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญ และเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิต ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีแล้ว ยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถตู้ ซึ่งมีวินรถตู้หลากหลายเส้นทาง ทั้งภายในกรุงเทพ และต่างจังหวัดใกล้เคียง ตลอด 24 ชั่วโมง
จึงทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน สถานที่ในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทางพิเศษศรีรัช สถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และห้างร้านต่าง ๆ อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องรอพักก่อนออกเดินทาง"