วันที่ 5 มีนาคม. 2568 เวลา 15:08 น.
วันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๘ นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครองต่อสื่อมวลชน เนื่องโอกาสครบรอบ ๒๔ ปี การเปิดทำการศาลปกครอง และมี นายประวิตร บุญเทียม รองประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการประชาสัมพันธ์ศาลปกครอง และกรรมการประชาสัมพันธ์ศาลปกครอง ประกอบด้วย นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด นางสาวสายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และ นายวิสูตร วัจนะเสถียรกุล อธิบดีศาลปกครองกลาง ร่วมตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ณ ห้องสัมมนา ๒ (แนวลาด) ชั้นบี ๑ อาคารศาลปกครอง
ประธานศาลปกครองสูงสุดแถลงผลการดำเนินงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองในภาพรวม ๒๔ ปี ว่า นับตั้งแต่ศาลปกครองเปิดทำการ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง จำนวน ๒๒๕,๓๗๗ คดี เป็นคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จำนวน ๑๕๗,๓๑๒ คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือคดีฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๖๘,๐๖๕ คดี จากภาพรวมคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองทั้งหมดนั้น ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จ จำนวน ๑๙๘,๒๔๐ คดี คิดเป็นร้อยละ ๘๘ ของคดีที่รับเข้า และในจำนวนคดีที่พิจารณาพิพากษา แล้วเสร็จนี้ พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง จำนวน ๑๒,๘๔๔ คดี โดยพิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จ จำนวน ๑๓,๐๖๐ คดี ซึ่งมากกว่าจำนวนคดี
ที่รับเข้า
และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดนโยบายการบริหารงานศาลปกครอง โดยมีเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง การบริหารจัดการคดีและบังคับคดี ด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม ขับเคลื่อนศาลปกครองเป็นระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากล ตลอดจนกำหนดมาตรการเร่งรัด ติดตาม และบริหารจัดการคดีค้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ควบคู่กับการบริหารจัดการคดีเข้าใหม่และคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า นอกจากนี้ ได้กำกับและติดตามงานคดีให้ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาตามประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๖๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ ศาลปกครองสามารถบริหารจัดการคดีในความรับผิดชอบในภาพรวม จำนวน ๓๐,๑๗๓ คดี โดยเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จำนวน ๓๐,๐๘๑ คดี คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๗๐ จำแนกเป็น คดีรับเข้าก่อนวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จำนวน ๑๒,๗๘๓ คดี คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๒๙ ของคดีรับเข้าทั้งหมด ๑๒,๘๗๕ คดี และคดีรับเข้าตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จำนวน ๑๗,๒๙๘ คดี คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ ของคดีรับเข้าทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน ได้มอบนโยบายให้จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการคดีของศาลปกครอง เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และนำมากำหนดแนวทาง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคดี รวมทั้งได้เร่งรัดการวิเคราะห์การจัดทำร่างคำวินิจฉัยต้นแบบของศาลปกครองชั้นต้นเพิ่มเติม จำนวน ๓ เรื่อง ได้แก่ คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และสัญญาทางปกครอง ประเภทสัญญาทุนการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำ
คำพิพากษาหรือคำสั่งให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนในด้านการบังคับคดีปกครองได้ยกระดับการเร่งรัดการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้กำหนดเป้าหมายในการบังคับคดีปกครองให้แล้วเสร็จ จำนวน ๑,๕๐๐ คดี และจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการบังคับคดีปกครองด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารศาลปกครองเกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานบังคับคดีปกครอง โดยมี นายสุชาติ มงคลเลิศลพ รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการฯ
สำหรับผลการดำเนินงานด้านการให้บริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ - ๒๕๗๐ ที่ตนดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะศาลปกครองกำลังจะเปลี่ยนผ่านเป็นระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) อย่างสมบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๗๐ โดยการพัฒนาให้ศาลปกครองเป็นระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) นั้น จะครอบคลุมถึงด้านการพัฒนาระบบดิจิทัลสนับสนุนการให้บริการประชาชน คู่กรณี และหน่วยงานของรัฐ (e-Service) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย ด้านการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองของตุลาการศาลปกครอง และพนักงานคดีปกครอง (e-Court) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานทั้งระบบในการดำเนินกระบวนพิจารณา
คดีปกครองทุกขั้นตอน และด้านการพัฒนาระบบสนับสนุนการปฏิบัติราชการสำนักงานศาลปกครอง (e-Office) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของบุคลากรให้ทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับเพิ่มขีดความสามารถการบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Infrastructure) และการพัฒนาระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถทางดิจิทัล (Digital Skill) ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
ในส่วนของระบบสนับสนุนการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน คู่กรณี และหน่วยงานของรัฐ (e-Service) ได้เปิดให้บริการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การยื่นคำฟ้องคดีปกครองทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางออนไลน์ (e-Litigation Portal) การยื่นเอกสารคำคู่ความ เพื่อให้คู่กรณีสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และการดำเนินการอื่น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเดินทางมาที่อาคารศาลปกครองซึ่งนับตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ได้เปิดใช้งานระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เป็นต้นมา พบว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี และจากสถิติการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๘ คดีอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๑๓,๖๔๖ คดี เป็นคดีที่มีการฟ้องผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เริ่มต้น จำนวน ๕,๗๖๔ คดี และเป็นคดีที่เปลี่ยนเป็นคดีอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๗,๘๘๒ คดี (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๘) และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่กรณี ศาลปกครองได้พัฒนาห้องพิจารณาคดี ห้องไต่สวนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courtrooms) เพื่อให้คู่กรณีสามารถขอศาลใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการไต่สวน การเข้าร่วมการนั่งพิจารณาคดี หรือฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพซึ่งในขณะนี้มีครบทุกศาลทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคแล้ว และจะมีการเพิ่มเติมห้องพิจารณาคดี ห้องไต่สวนทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ในศาลปกครองทุกแห่ง
ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองได้โดยสะดวก และรวดเร็ว ผ่านช่องทางศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ จำนวน ๑,๗๒๒ แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนหรือศูนย์ราชการในภูมิภาคต่าง ๆ ครอบคลุมเขตอำนาจของศาลปกครองในภูมิภาคทั้ง ๑๔ แห่ง โดยได้รวมงานบริการต่าง ๆ ของศาลปกครองผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในช่องทางดังกล่าว เช่น การฟ้องคดีปกครองออนไลน์ (e-Litigation Portal) ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์ (ALL Cloud) การปรึกษาคดีปกครองออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ การจัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครอง โดยเฉพาะการเข้าถึงการใช้งานระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวก และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
และจากการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของศาลปกครองมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ และ พ.ศ. ๒๕๖๗ สำนักงานศาลปกครองสามารถรักษามาตรฐานการใช้และการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามมาตรฐานของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัล หน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลักอย่างต่อเนื่อง ๒ ปีติดต่อกัน ซึ่งรางวัลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับกระบวนการทำงานและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประชาชน คู่กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ได้เข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองได้โดยสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และศาลปกครองจะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวางระบบและรากฐานของศาลปกครองที่จะก้าวสู่การเป็นระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) อย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ และการเตรียมการสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt) ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๗๑ - ๒๕๗๕ ต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารศาลปกครองด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมี นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการฯ
4 เมษายน 2568
4 เมษายน 2568