หน้าแรก > อาชญากรรม

CIB ร่วม อย. ปูพรม 6 จุด ทลายโกดังเครื่องสำอาง-อาหารจีนไร้คุณภาพ ยึดของกลางรวม 4 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 46 ล้านบาท

วันที่ 5 มีนาคม. 2568 เวลา 10:47 น.


กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย  บก.ปคบ. และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  ปฏิบัติการกรณี ทลายโกดังจัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนำเข้าจากต่างประเทศ ลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 107 รายการ รวม 476,965 ชิ้น มูลค่ากว่า 46,200,000 ล้านบาท

สืบเนื่องกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) พบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายที่นำเข้ามาจากประเทศจีน 

ต่อมาระหว่างวันที่ 18 -28 กุมภาพันธ์ 2568  ได้เข้าตรวจค้นสถานที่จัดเก็บ และแพ็คส่งสินค้าที่ จำนวน 6 จุด ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ , เขตสายไหม กรุงเทพ, อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี , เขตคลองสามวา กรุงเทพ, อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ , เขตราชเทวี กรุงเทพ 

จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า สินค้าจากการตรวจสอบเบื้องต้นสินค้าทั้งหมดมีการนำเข้ามาจากประเทศจีน  โดยส่วนใหญ่ไม่แสดงฉลากเป็นภาษาไทย และบางรายการระบุฉลากภาษาไทยจากการแปลโดยโปรแกรมอัตโนมัติ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะนำส่งตัวอย่างของกลางตรวจพิสูจน์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข เพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบการปนเปื้อน สารเคมีอันตราย หรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด
1. พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 
- ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522  ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

3. พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐาน “ขายวัตถุอันตรายที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้อนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์  บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ไม่มี อย. ที่ประชาชนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก โดยปฏิบัติการดังกล่าวเกิดจากการเฝ้าระวังในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค หากประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

 

ข่าวยอดนิยม