วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14:41 น.
25 กุมภาพันธ์ 2568 บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันป้องกันมิจฉาชีพ “Whoscall” เปิดรายงานประจำปี 2567 เกี่ยวกับสถานการณ์กลโกงมิจฉาชีพในไทยตลอดปีที่ผ่านมา จากการสำรวจทั้งสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหลของ Whoscall
โดยในปี 2567 Whoscall สามารถระบุสายโทรเข้าและข้อความ SMS จากการหลอกลวงได้มากกว่า 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี สูงขึ้นจากปี 2566 ถึง 112% ที่ระบุได้ 79 ล้านครั้ง เฉลี่ยแล้ว สามารถระบุเบอร์เฉพาะมิจฉาชีพได้ 460,000 ครั้งต่อวัน
ในปี 2566 Whoscall สามารถตรวจพบสายมิจฉาชีพได้ 20.8 ล้านครั้ง SMS มิจฉาชีพ 58 ล้านครั้ง ขณะที่ในปี 2567 สามารถตรวจพบสายมิจฉาชีพได้ 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 85% และตรวจพบ SMS มิจฉาชีพ 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 123%
สำหรับกลลวงของสายมิจฉาชีพที่ตรวจพบผ่านการโทร ประกอบด้วย การหลอกขายของ การแอบอ้างเป็นบริษัท หลอกทวงเงิน หลอกว่าเป็นหนี้ และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย ขณะที่กลลวง SMS มิจฉาชีพที่ตรวจพบ ประกอบด้วย เว็บไซต์พนัน หลอกว่าส่งพัสดุติดค้าง ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย แอบอ้างหน่วยงาน และ หลอกให้ลงทุน
นางสาว มนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2567 เป็นปีที่ตัวเลขขึ้นสูงมาก จากสัดส่วนจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้ SMS ในการหลอกลวงค่อนข้างสูง สาเหตุเพราะการส่ง SMS มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ และปัจจุบันนี้มิจฉาชีพมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเขียนสคริปต์ สามารถส่งได้ปริมาณมากในครั้งเดียว ส่วนมุกที่กลุ่มผู้หลอกลวงมาใช้จะเป็นมุกเดิม ๆ เพื่อให้เหยื่อดำเนินการได้รวดเร็ว เล่นกับความโลภความกลัวของเหยื่อ
ขณะที่ นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า หากเทียบกับต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้และเอเชียตะวันออก พบว่ามียอดการหลอกลวงเติบโตต่อเนื่อง พบการหลอกลวงผ่าน SMS มากกว่าการโทร ส่วนญี่ปุ่นและไต้หวัน ตัวเลขการหลอกลวงเติบโตช้ากว่า อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงที่พบเหมือนกันคือ การหลอกลงทุน อีคอมเมิร์ซสแกม และ การหลอกปลอมเป็นบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ
ที่มา : https://whoscall.com/th/blog/articles/1538...