วันที่ 8 มกราคม 2568 เวลา 03:15 น.
นักศึกษาอาชีวะไทย ก็ไม่หวั่น สามารถคว้ารางวัลที่ 1 และที่ 2 แกะสลักหิมะระดับนานาชาติมาครอง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
(7 ม.ค.68) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ทีมนักศึกษาอาชีวะไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติประจำปี พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 4 – 7 มกราคม 2568 ณ เมือง Harbin สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งผลการแข่งขัน ปรากฎว่า ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลที่ 2 จากการแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม จาก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี เยอรมัน รัสเซีย มาเลเซีย ไทย โปรตุเกส เบลารุส
โดยทีมนักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ประกอบด้วย นายวรัสก์กร โชติสิริพัชร์ ,นายเพชรธรรม สุขสวัสดิ์ ,นายธนกฤต ใจเย็น ชั้นปวช.3 และนายอภิโชค จันทนะ ชั้นปวช.2 โดยมีนายสุกฤษ สุธญพลาวุฒิ และ นายศรชัย ชนะสุข เป็นครูควบคุมทีม ชื่อผลงาน “สายใยแห่งผู้พิทักษ์คู่แฝด ผู้พิทักษ์และสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองวัฒนธรรม” ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีนได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปะและวิทยาการใหม่ๆ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เราถ่ายทอดและเฉลิมฉลองมรดกทางวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสองวัฒนธรรมนี้ เปรียบได้กับ 'พี่น้องฝาแฝด ซึ่งเป็นรากฐานของประติมากรรมชิ้นนี้ โดยรวบรวมประเพณีทางศิลปะของทั้งสองประเทศ โดยเน้นที่สัญลักษณ์แห่งการปกป้องและคุ้มครองที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน ได้แก่ ยักษ์ของไทยและจีน รวมถึงสิงโต ซึ่งตามความเชื่อดั้งเดิมจะทำหน้าที่ปกป้องอาคารและบ้านเรือน องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อนำมาผสานเข้าด้วยกันแล้ว สามารถแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของทั้งสองวัฒนธรรม สะท้อนถึงความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน และความเคารพซึ่งกันและกันที่คงอยู่มาช้านาน
ทีมนักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ประกอบด้วย นายภัทรภูมิ เจียรนิมิต ,นางสาวญาดา มหาพันธน์ ชั้นปวช.3 ,นายวันนุวรรตน์ โสภาพงษ์ ชั้นปวช.2 และนางสาวชนัญญา เพ็ชรริ ชั้น ปวส.1 แผนกวิชาออกแบบ โดยมีนายกิตติพล วิเชียรเชื้อ เป็นครูผู้ควบคุม ชื่อผลงาน มวยไทย (Thai Fight) ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้มวยไทยอันทรงพลัง ที่แสดงถึงความแข็งแกร่ง ความเป็นนักสู้ ที่มีความสมดุลระหว่างพละกำลังกับความนุ่มนวล พร้อมกับการผสานภาพของศิลปะมวยไทยและช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทน ความแข็งแกร่ง และมีพลัง เป็นความผูกพันระหว่างคนไทยกับช้างที่มีมาแต่โบราณ
ทีมนักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย นายวายุ มีบุญ ,นายสิรวิชญ์ พันธุ์บุญ ,นายนพสิษฐ์ จารึกรัมย์ ชั้นปวช.2 แผนกวิชาวิจิตรศิลป์ และนายไพพิศาล แหวนวงษ์ ชั้น ปวช.1 โดยมี นายพฤติพงษ์ วงศ์วรรณา เป็นครูผู้ควบคุมทีม ชื่อผลงาน ความสัมพันธ์ไทย – จีน ซึ่งมีความผูกพันกันมายาวนานนับหลายร้อยปี ประชาชนชาวจีนบางส่วนได้ย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตยังราชอาณาจักรไทย บางส่วนมาประกอบธุรกิจ ทำการเกษตร และค้าขาย จนเจริญรุ่งเรือง ศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าหลากหลายประการที่ชาวจีนนำมาด้วยได้แผ่ขยายและซึบซับสู่วิถีชีวิตของชนชาวไทย โดยเฉพาะประเพณีการเชิดสิงโต ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาศพิเศษ งานเปิดกิจการ หรืองานมงคลสมรส เป็นที่ชื่นชมของประชาชนชาวไทย ประติมากรรมชิ้นนี้แสดงถึงลักษณะเคลื่อนไหวท่าทาง ของการเชิดสิงโต ในชุดสิงโตโดยมีคนเชิดอยู่ด้านใน ประกอบกับลีลาท่าทางที่งดงาม และทรงพลังยิ่งนัก
เครดิต NBT Connext