วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12:17 น.
14 พฤศจิกายน ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไอกรน ภูมิต้านทานต่อไอกรนในคนไทย มีรายละเอียด ดังนี้
"ไอกรนไม่ใช่โรคใหม่ ประเทศไทยมีวัคซีนฉีดในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติมาเป็นเวลาร่วม 47 ปี โดยเน้นความสำคัญอยู่ในเด็ก เพราะความรุนแรงของโรคจะอยู่ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เราจึงให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบไอกรนในรูปของวัคซีนรวม ที่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และ 4-6 ปีเป็นครั้งสุดท้าย วัคซีนที่ใช้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตพึ่งมีการนำมาใช้ในประเทศไทยประมาณเกือบ 20 ปี แต่วัคซีนมีราคาแพง และจะต้องฉีดด้วยความสมัครใจ และจ่ายเอง
ภูมิต้านทานต่อโรคไอกรน ในเด็กไทยจึงสูงอยู่ในช่วง 10 ปีแรก และเมื่อหลังอายุ 10 ปีไปแล้ว ประชากรไทยจะมีภูมิต้านทานต่อไอกรนประมาณร้อยละ 50 เราทำการศึกษาเมื่อ 10 ปีที่แล้วและเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าไม่ต่างกันเลย เพราะหลัง 10 ขวบไปแล้ว ประชากรไทยได้รับวัคซีนไอกรนน้อยมาก
โรคจะรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ปี ดังนั้นในเด็กโต จึงมีโอกาสเป็นโรคได้ แต่อาการน้อยมาก และจำนวนมาก ก็อาจจะมีเชื้อโดยไม่มีอาการ อย่างเช่นการระบาดครั้งนี้ ถ้าเราตรวจที่คอของเด็กทุกคน ก็คงจะเจอเชื้ออยู่บ้างที่ไม่มีอาการ
การระบาดในเด็กนักเรียน เด็กโต ที่ตรวจพบเชื้อร่วม 20 ราย มี 2 รายไม่มีอาการใดๆเลย และสามารถแพร่เชื้อได้ด้วย และถ้ายิ่งตรวจ ก็จะเจอมากกว่านี้อีก การให้วัคซีนในเด็กโตไม่ได้อยู่ในภาคบังคับ มีการแนะนำให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก ทุก 10 ปี แต่ไม่ได้รวมไอกรน เหตุการณ์ที่เกิดในขณะนี้ ถ้ามองในอดีต ก็คงจะเคยมีแล้ว แต่เราไม่ได้ตรวจ ก็ไม่มีการระบาด ปัจจุบันการตรวจง่ายมาก ก็เลยพบมีการระบาดในเด็กโต ถ้าไม่ตรวจก็ไม่ระบาด
การให้วัคซีนไอกรน จึงอยู่ในภาคสมัครใจ ดังนั้นการตรวจภูมิต้านทานในเด็กที่หลัง 10 ขวบไปแล้วจึงไม่แปลกเลยที่จะพบภูมิต้านทานเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ดังแสดงในรูป เป็นการศึกษาใน 2014 และ 2023 จากรูปก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าทำไมจึงพบโรคนี้ในเด็กที่อายุเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็เพราะภูมิต้านทานที่ฉีดไว้ในตอนเด็กลดลงต่ำแล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงความรุนแรงของโรคและความจำเป็นในการกระตุ้น จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการให้วัคซีนนี้ในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ และถ้าจะต้องการยกระดับให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อไอกรน ที่ยังเหลืออยู่อีก 50% สำหรับประเทศเรายังเป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และวัคซีนที่อยู่ในลำดับที่สำคัญกว่ามีความจำเป็นมากกว่ายังรออยู่อีกมาก ที่เด็กไทยหรือประชากรไทยควรจะได้รับง
ไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนกเลยสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ เรามาให้ความสำคัญกับเด็กเล็กให้ได้รับวัคซีนพื้นฐาน ให้ได้ครบตามเป้าหมาย หรือในเด็กทุกคนตามแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ"