วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 02:58 น.
“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้ง ปี 67/68 โซนภาคเหนือ-อีสาน-กลาง พร้อมเฝ้าระวังฝนภาคใต้ แจ้งเตือนอุทกภัยทันที
(11 ตุลาคม 2567) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 5 ในรอบปี 2567 โดยช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน เข้าสู่ฤดูแล้ง จะไม่มีการกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ขอมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังนั้น
1. ขอมอบแนวทางเพิ่มเติม ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงตาม 8 มาตรการที่เคยให้ไว้ จากการเห็นชอบในที่ประชุมครั้งที่ 4/2567 คราวที่แล้ว
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและเร่งดำเนินงาน ฟื้นฟูผลกระทบ และความเสียหาย ที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัยให้กลับคืนสภาพโดยเร็ว
3. เร่งสำรวจตรวจสอบซ่อมแซม คันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน
4. ส่วนของภาคใต้ที่เข้าสู่ฤดูฝน ขณะนี้ สทนช. ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้า เพื่อเตรียมดำเนินการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ขอให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่มก็ตาม ระยะหลังเกิดปรากฏการณ์นี้บ่อย ๆ แจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 67/68 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68 ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว มอบหมายให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์แผนการจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทาน พร้อมควบคุมการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด
สำหรับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้กรมชลประทานสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่คาดการณ์เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และหากพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากขึ้น ให้แจ้งไปยัง สทนช. เพื่อบูรณาการหน่วยงานเแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที รวมถึงให้หน่วยงานที่เสนอขอรับงบกลาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 68 เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมของโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ
นายประเสริฐกล่าวเพิ่มว่า แม้ว่าขณะนี้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ยังคงมีประชาชนบางพื้นที่ ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จึงให้เตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ โดยได้เน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าและเตรียมตัวได้ทันท่วงทีเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยต้องมีการติดตามประเมินผลเพื่อปรับการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุดด้วย นอกจากนี้ ต้องกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตามมาตรา 20 พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561
2. ให้เพิ่มเติมแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 69 ผ่านระบบ Thai Water Plan เนื่องจากพบว่ามีแผนงานโครงการสำคัญที่มีเหตุผลความจำเป็นส่งผลให้ยังไม่ได้เสนอผ่านระบบภายในกำหนดเวลาเดิม โดยแผนงานโครงการต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามลำดับ และให้ตัดรอบโครงการในวันที่ 11 พ.ย. 67
3. เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 69 เพื่อปรับช่วงเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้มีความสอดคล้องกันยิ่งขึ้น โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน