หน้าแรก > ต่างประเทศ

ช้างป่า 13 ตัวล้มปริศนา ในอุทยานแห่งชาติบันธัมครห์ อินเดีย คาดเพราะกิน “ข้าวฟ่างติดเชื้อรา”

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08:58 น.


บีบีซี รายงานกระแสวิตกกังวลใน ประเทศอินเดีย หลังจาก ช้างป่า 13 ตัวล้มตายในอุทยานแห่งชาติบันธัมครห์ รัฐมัธยประเทศ ทางตอนกลาง ในช่วง 3 วันระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าเพราะกิน “ข้าวฟ่าง” ติดเชื้อรา

ผลการตรวจสอบสารพิษในเบื้องต้นทำให้สันนิษฐานว่าช้างป่ากินข้าวฟ่างที่มีราเข้าไป ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศและทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

นายแอล กฤษณะ มูรตี เจ้าหน้าที่ป่าไม้อาวุโสและหัวหน้าชุดสอบสวนการตายของช้าง กล่าวว่ารายงานพิษวิทยาระบุว่าช้างกินต้นและผลข้าวฟ่างโคโดะปริมาณมาก แม้ไม่ได้ยืนยันว่าช้างถูกวางยาพิษหรือเป็นการจงใจวางยาพิษ แต่มีความเป็นไปได้ว่าเกษตรกรอาจหาวิธียับยั้งช้างไม่ให้เข้ามาทำลายพืชผล

จากการตรวจสอบอาหารที่ตกค้างในกระเพาะของช้างที่ล้มตาย เจ้าหน้าที่พบ “กรดไซโคลเพียโซนิก” สารพิษจากเชื้อราที่มีฤทธิ์รุนแรงต่อระบบประสาท จึงคาดว่าช้างกินข้าวฟ่างโคโดะเข้าไปจำนวนมาก

ข้าวฟ่างชนิดนี้ปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่แห้งแล้งหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และบางส่วนของแอฟริกาตะวันตก สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวฟ่างโคโดะในอินเดียส่วนใหญ่ ร้อยละ 35 อยู่ในรัฐมัธยประเทศ พืชชนิดนี้โตเร็ว ทนแล้งได้ดี เก็บรักษาไว้ได้นาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการและย่อยง่าย

แต่ผลการศึกษาบางชิ้นพบว่าการรับประทานข้าวฟ่างอาจทำให้เกิดอาการมึนเมาและเป็นพิษต่อร่างกาย เนื่องจากข้าวฟ่างมักมีราขึ้นซึ่งเป็นตัวการสร้างกรดไซโคลเพียโซนิก

ขณะที่ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยข้าวฟ่างแห่งอินเดียระบุว่า พืชผลการเกษตรหลายชนิดมีรา (กรดไซโคลเปียโซนิก) ปนเปื้อน แต่มีการบันทึกว่าพืชที่ได้รับผลเสียมากที่สุดคือ ข้าวฟางโคโดะ

นอกจากนี้ยังมีรายงานบางฉบับระบุว่าสัตว์หลายตัวตายหลังกินพืชขึ้นราที่มีกรดอันตราย แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เช่น รายงานของนายรามาน สุกุมาร นักนิเวศวิทยา และนายทีเอส สุรายานารายานัน นักนิเวศวิทยา ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารดาวน์ทูเอิร์ธ ระบุว่าเมื่อปี 2476 เกิดเหตุช้าง 14 ตัวตายใกล้ป่าในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย เพราะกินข้าวฟ่างโคโดะ

หลังจากข่าวโด่งดังทั่วประเทศว่าต้นเหตุคือ ข้าวฟ่างโคโดะ ทำให้เจ้าหน้าที่ถางทำลายข้าวฟ่างที่ปลูกในหมู่บ้านใกล้กับอุทยานแห่งชาติ ด้านรายงานพิษวิทยาแนะนำให้สำรวจและทำลายพืชผลการเกษตรขึ้นราและป้องกันไม่ให้ช้างเลี้ยงและช้างป่าเข้าไปในพื้นที่เพาะปลูกเหล่านั้น

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม