วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12:28 น.
วันนี้ (8 พ.ย.67) เวลา 07.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องในงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี 2567 ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
พิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกับวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 โดยในเวลา 06.00 น. ขบวนอัญเชิญผ้าแดง เคลื่อนออกจากลานโพธิ์ลังกา หน้าพระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สำหรับขบวนอัญเชิญผ้าแดง ประกอบด้วย ขบวนเชิญป้ายงานนมัสการพระบรมสารรีริกธาตุ ประจำปี 2567 ขบวนวงดุริยางค์ของโรงเรียนวัดสระเกศ ขบวนเชิญธงชาติ ธงธรรมจักร และตราสัญลักษณ์ วปร. ขบวนเทพธิดาเชิญพานดอกไม้ ขบวนช้างมงคล 3 เชือก ขบวนกลองยาว ขบวนหัวโต ขบวนผีตาโขน ขบวนนางรำ ขบวนพญานาค ขบวนรถคลาสสิค ขบวนป้ายพิธีอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต ขบวนคนไทยเชื้อสายอินเดีย นุ่งห่มชุดส่าหรี่ ขบวนรถบุปผชาติอัญเชิญผ้าแดง พร้อมเทวดายืนประจำยาม 4 ทิศ ขบวนพุทธศาสนิกชนถือสายมงคล เคลื่อนตามริ้วขบวน
ประเพณีห่มผ้าแดง นับว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดงานมากว่า 130 ปี หลังจากอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีการจัดงานประเพณีห่มผ้าแดงขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 จนถึงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังเทศกาลลอยกระทง รวม 10 วัน 10 คืน ความหมายของการห่มผ้าสีแดงให้กับองค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง เนื่องจากสีแดงตามความเชื่อโบราณ คือสีแห่งความเป็นมงคล และยังมีความเชื่อที่ว่าผู้ที่เขียนชื่อและนามสกุลลงบนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ จะได้รับความเป็นสิริมงคล ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย ที่ผ่านมาทางวัดได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนจารึกชื่อและนามสกุล พร้อมเขียนคำอธิษฐานขอพรลงบนผ้าแดง บริเวณศาลาบำเพ็ญกุศล ใกล้ทางขึ้นภูเขาทอง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เดิมชื่อวัดสะแก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม พระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา สืบเนื่องมาจากเมื่อทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) ครั้งเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ภายในวัดสระเกศ มีพุทธสถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์อันงดงาม รวมถึงสิ่งก่อสร้างที่อยู่คู่กับวัดสระเกศ คือภูเขาทองหรือบรมบรรพต ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดมีเจดีย์เหลืองอร่ามประดิษฐานอยู่ จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ของวัดภูเขาทองในพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2422 รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดได้จากเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัสดุ์ จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน โดยการอัญเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพตเป็นเวลา 10 วัน
สำหรับงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) หรือ งานวัดภูเขาทอง กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 8-17 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ ประเพณีห่มผ้าแดง โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ร่วมพิธี นอกจากนี้ ภายในงานวัดภูเขาทอง 2567 ยังคงบรรยากาศของงานวัดกลางกรุงสมัยก่อน โดยมีการจัดแสดงไฟตามมุมต่างๆ ของวัด การออกร้านค้าไทยย้อนยุค ร้านค้าไทยสี่ภาค ให้เช่าชุดสี่ภาคถ่ายรูป การจัดแสดงสระอโนดาตและสัตว์ป่าหิมพานต์ บริเวณถ้ำบามิยัน ใกล้ทางขึ้นภูเขาทอง
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน