หน้าแรก > สังคม

นักวิชาการชี้ หญ้าทะเลหายไป ทำให้ปีนี้พะยูนตายแล้ว 32 ตัว

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09:53 น.


4 พฤศจิกายน 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

พะยูนตายอีกตัวแล้วครับ ปีที่แล้วทั้งปี 40 ตัว ปีนี้ 32 ตัว ไม่รู้ถึงสิ้นปีจะตายอีกกี่ตัว ปัญหาคือหญ้าทะเลหายเยอะ ต้องหาวิธีมาแก้ไขครับ

ทั้งนี้ กลุ่ม ผศ.ดร.ธรณ์ และคณะประมง มก. ได้ทำการทดลองปลูกป่าทะเลเพิ่ม เพื่อประโยชน์ในห่วงโซ่อาหาร และเป็นอาหารหลักของพะยูนดังนี้

ทดลองปลูกหญ้าทะเลของคณะประมง จะได้ทราบว่ามันใช้เวลาและไม่ง่ายเลยครับ
หาพื้นที่เหมาะสม (3-6 เดือน)

หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน พัฒนาเทคนิคพิเศษ ใช้ทั้งโดรนทั้งสำรวจภาคสนาม เวลาทำงานจริงในพื้นที่ 3-4 วัน แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องเตรียมตัวครับ

เราต้องวิเคราะห์ภาพดาวเทียม ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เลือกพื้นที่กว้างแล้วค้นข้อมูล ไปสำรวจขั้นต้น ประเมินศักยภาพ (SWOT) ขั้นตอนนี้หมดไปเป็นเดือนหรือกว่านั้น  เมื่อเลือกเป้าหมายได้ การสำรวจจริงจังต้องรอน้ำลงต่ำสุดตอนกลางวัน ฟ้าใส ลมไม่แรง ทีมงานพร้อม ฯลฯ   3-6 เดือนหมายถึงยุคนี้ที่เราชำนาญแล้ว ก่อนหน้านั้นใช้เวลาพัฒนาเทคนิคเป็นปี

หาเมล็ด/เพาะ/อนุบาลต้นกล้า (12–18 เดือน) หญ้าทะเลมีเมล็ดตามฤดูกาล เราต้องไปสำรวจล่วงหน้าเป็นเดือนๆ วางแผนเก็บแบบไม่ให้รบกวนธรรมชาติ  ทว่า…ปัจจุบันเกิดวิกฤตหญ้าทะเล หาเมล็ดยากมากๆ นั่นคือที่มาของแปลงต้นพันธุ์ที่ขายเสื้อระดมทุนจากเพื่อนธรณ์

เมื่อได้เมล็ดมา ใช้ทั้งเพาะธรรมดาและเพาะเนื้อเยื่อที่เกษตรบางเขน เลี้ยงดูอุ้มชูจนเป็นหญ้าต้นน้อย ย้ายไปโรงเลี้ยงที่ศรีราชา บางส่วนย้ายต่อไปไว้ในบ่อเลี้ยงที่คลองวาฬ ประจวบ บางส่วนพร้อมลงทะเล

ขั้นตอนนี้ยาวนานที่สุด ยังต้องลุ้นหลายเรื่อง ลุ้นตลอดจนคนทำผมหงอกไปหลายเส้น อบคุ้กกี้ยังมีบางส่วนไหม้ หญ้าทะเล 100 ต้นรอดเท่าไหร่ 555

ทดลองปลูกในทะเล (3-12 เดือน) เวลาที่ใช้ปลูกไม่มาก แต่การหาจังหวะให้เป๊ะมันยาก ผมจะปลูกตอนน้ำลงต่ำในช่วงหน้าฝน (หน้าร้อนน้ำร้อนมาก) มีเวลาเพียงปีละไม่กี่วัน
ปัญหาคือลมฟ้าอากาศ ยุคนี้โลกร้อน คลื่นลมผิดปรกติ ใครเป็นชาวประมงคงทราบดี ลมมาแรงๆ แปลกๆ เป็นระยะ

ที่ผ่านมาผมต้องแคนเซิลทริปกระทันหัน แต่ละหนน้ำตาแทบไหล จะหาเวลาใหม่ให้ทุกคนพร้อมมันยาก เงินก็จ่ายมัดจำนี่นั่นไปแล้ว

ธรณ์มาฟ้าใส ! นั่นคือสิ่งที่เราเชื่อมั่น การปลูกยังต้องบริหารความเสี่ยง ทำเป็นลอตๆ ไม่ใช่ลงโครมทีเดียวหมด ยิ่งยุคทะเลเดือด วางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว มันคือนรกของลูกไก่

ติดตามผล (1-3 ปี) นับจากหญ้าชุดแรกที่เราทดลอง ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว รอดอยู่ไม่ถึงหลักร้อย แต่แค่นั้นก็แทบร้องไห้ด้วยความดีใจแล้วฮะ

อะไรใหม่ๆ เป็นที่เกลียดชังของเจ้าถิ่น หอยมารุมกิน สาหร่ายมารุมเกาะ ฯลฯ แต่โหดสุดคือโลกร้อนมันมั่วมาก ทะเลเดือดน้ำร้อนจัดขนาดหญ้าธรรมชาติยังไม่รอด

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีบ่ออนุบาลระยะยาว เพราะถ้าตรงนั้นไปไม่ไหวจริง ปลูกก็ตายหมด แต่หญ้าโตเรื่อยๆ จนเก็บในโรงเลี้ยงศรีราชาไม่ไหว เาาจะย้ายมาอยู่ในบ่อคลองวาฬ

เคยบอกเพื่อนธรณ์ไปแล้ว หญ้าแฮปปี้มากเมื่ออยู่ในบ่อ อยู่ได้เรื่อยจนกว่าสักวันจะพร้อมลงทะเลครับ

ทั้งหมดนี้คืองานที่ หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน ทำมาจนถึงตอนนี้ หากสรุปสั้นๆ สามคำคือ “มัน-เหนื่อย-มาก” จนบางทีอยากร้องกรี๊ดๆๆ

แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะท้อฮะ คนที่มาทำเรื่องแบบนี้ได้มันต้องอึด ยิ่งหญ้าหายพะยูนตายรัวๆ มันยิ่งเพิ่มแรงฮึดทำแม้เหนื่อย ก็ดีกว่ามานั่งเสียใจภายหลังว่าทำไมตอนนั้นเราไม่ทำ
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม