หน้าแรก > สังคม

"เฉลิมชัย" สั่งแก้ปัญหาพะยูนตายต่อเนื่องหลังข้อมูล พบ 22 เดือน ตายแล้ว 70 ตัว

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 12:22 น.


25 ตุลาคม 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟสบุ๊ก ระบุ วิกฤต "พะยูน" ไทยใกล้สูญพันธุ์ ปี 2565 มีพะยูนในอันดามัน 242 ตัว /  22 เดือน ตายไปแล้ว 70 ตัว สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์เต็มที เราต้องทำทุกทาง เพื่อแก้ปัญหา “พะยูนล้มตายต่อเนื่อง”

"โลกเดือด" กำลังทำลายทุกสิ่ง แหล่งหญ้าทะเล(อาหารของพะยูน)เสื่อมโทรม และตายเกือบหมด ไม่มีวี่แววจะฟื้น ทำให้พะยูนส่วนมากจะตายเพราะอ่อนแอ ป่วยเรื้อรัง และขาดอาหาร 
พะยูนบางส่วนต้องย้ายถิ่นฐานไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งที่ใหม่ เมื่อพะยูนอพยพย้ายถิ่นมากขึ้น ประกอบกับปริมาณการสัญจรทางน้ำ และกิจกรรมประมงมากขึ้น ส่งผลมีอัตราพะยูนตายจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงเพิ่มขึ้น

จากสถิติ ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และกรมอุทยานฯ ภาวะปกติ พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นช้าๆ แต่เมื่อเกิดภาวะโลกเดือด หญ้าในจังหวัดตรังเริ่มลดลง พะยูนเริ่มตายมากกว่าค่าเฉลี่ย (20.25 ตัว) จำนวนตายมากกว่าอัตราเกิด หากไม่อยากให้จำนวนพะยูนลดลง ขีดจำกัดคือห้ามตายเกิน 17 ตัว ต่อปี
ปี 66 พะยูนตาย 40 ตัว
ปี 67 พะยูนตาย 30 ตัว (ถึงวันที่ 23 ตค.)
ค่าเฉลี่ยตอนนี้สูงถึง 34 ตัว/ปี มากเกิน 2 เท่าของภาวะปกติ (13 ตัว/ปี) จำนวนพะยูนกำลังลดลงแบบดิ่งนรก
จึงสั่งการ ให้เร่งดำเนินการส่งนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เฝ้าระวังและสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแหล่งหญ้าทะเล(อาหารของพะยูน) ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของจำนวนประชากรและการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด รวบรวมเป็นฐานข้อมูลและกำหนดแนวทาง มาตรการ ในการอนุรักษ์และดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก

แผนเชิงรุก และแผนช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นที่ยังมีชีวิต ดังนี้
1.แผนเชิงรุก
- ให้ความรู้แก่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวกับความรู้ทั่วไปของพะยูน และการช่วยชีวิตพะยูนเบื้องต้น
- จัดเตรียมอุปกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการในพื้นที่แหล่งอาศัยและพื้นที่ที่พบการเกยตื้น
- สำรวจประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล(อาหารของพะยูน)ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน
- เตรียมบ่อพักฟื้นในแต่ละพื้นที่ และจัดทำ stock หญ้าทะเล(อาหารของพะยูน)
- ใช้แบบจำลองทางสมุทรศาสตร์เพื่อระบุพื้นที่ ที่พะยูนตาย แล้วนำข้อมูลมาใช้ในการเฝ้าระวังในพื้นที่หญ้าทะเล เพื่อป้องกันการเกยตื้นในอนาคต
2.แผนช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นที่ยังมีชีวิต
- จัดหาพื้นที่สำหรับพักฟื้นในบริเวณที่พบเจอการเกยตื้นบ่อย
- จัดทีมอาสาฉุกเฉินและ key person ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว
- เตรียมยาและอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับช่วยชีวิต

กำหนด มาตรการหลัก
- หากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บ หรือตาย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1362 เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือ นำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากของ ทช.
- เร่งพูดคุยทำความเข้าใจสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยว และเรือประมงในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเล 
-ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชน เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก และงดเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล หรือกรณีจำเป็นให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน และ
- ประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็คดูแลเครื่องมือประมง หรือหลีกเลี่ยงทำประมงบริเวณดังกล่าว และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุรักษ์ โดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน ตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์ รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน

เพราะ "โลกร้อนมันโหดร้าย" มันฆ่าปะการัง ฆ่าหญ้าทะเล ฆ่าน้องพะยูน และกำลังฆ่ากำลังใจของคนรักทะเลไทยให้หมดไปอย่างช้าๆ “มัน” เริ่มต้นมาจากการกระทำของมนุษย์

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม