หน้าแรก > ภูมิภาค

ทีมนักวิจัยไทย ค้นพบ "กะท่างน้ำจากดอยสอยมาลัย" กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก และเป็นชนิดที่ 7 ของประเทศไทย

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 14:48 น.


21 ตุลาคม 2567  รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และ รศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Graduate School of Human and Environmental Studies มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันศึกษาและตั้งชื่อกะท่างน้ำจากดอยสอยมาลัย ซึ่งเป็นกระท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย การค้นพบกะท่างชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติระดับ Q1 (ZooKeys 1215: 185–208)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 มีการเผยแพร่ข่าวการพบกะท่างน้ำบริเวณยอดดอยสอยมาลัย ทำให้ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และ รศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามข่าวดังกล่าวเพื่อค้นหากะท่างน้ำชนิดนี้เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดดอยสอยมาลัย ที่ระดับความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และค้นพบกะท่างน้ำตัวเต็มวัยและตัวอ่อนอยู่ในแอ่งน้ำบนถนนหลังจากการค้นหามานานหลายปี กะท่างน้ำชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบว่า "กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tylototriton soimalai เพื่อเป็นเกียรติแก่ดอยสอยมาลัย

กะท่างน้ำดอยสอยมาลัยมีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างจากกะท่างน้ำชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน โดยมีลักษณะเฉพาะคือ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง ปลายจมูกทู่หรือเป็นปลายตัด สันกระดูกกลางหัวแคบ สั้น และชัดเจน แนวสันกระดูกข้างหัวเด่นชัดและขรุขระ มีต่อมพิษหลังตาที่เห็นได้ชัดเจน สันกระดูกสันหลังเด่นชัด กว้าง และไม่แบ่งเป็นท่อน มีต่อมพิษข้างลำตัว 14–16 ตุ่มซึ่งมีลักษณะกลมและแยกออกจากกัน ยกเว้นส่วนหลังที่เชื่อมต่อกัน     สีพื้นลำตัวเป็นสีดำและส่วนอื่น ๆ มีสีส้ม การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลในยีน NADH dehydrogenase subunit 2 (ND2) ในไมโทคอนเดรีย พบว่ากะท่างน้ำดอยสอยมาลัยเป็นชนิดที่แยกต่างหาก โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) มากที่สุด โดยมีความแตกต่างของลำดับพันธุกรรม 4.1%

ปัจจุบันการค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยนี้ยังอยู่ในวงแคบเฉพาะบริเวณยอดดอยสอยมาลัยเท่านั้น ยังไม่มีการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณแอ่งน้ำบนถนนเพื่อสืบพันธุ์และการเติบโตของตัวอ่อนจนกว่าจะถึงระยะโตเต็มวัย

กะท่างน้ำหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "crocodile newt" เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับกบ เขียด และคางคก โดยมีรูปร่างลำตัวยาว ขามีทั้งขาหน้าและขาหลัง หางยาว หัวกลมมน มีผิวหนังค่อนข้างแห้งและขรุขระ มีตุ่มเรียงเป็นแถวอยู่ด้านข้างตัว ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกเป็นวุ้น ตัวอ่อนเติบโตในน้ำและมีพู่เหงือกทั้งสองข้างของส่วนหัว ซึ่งจะหายไปหรือลดรูปเมื่อเข้าสู่ระยะตัวเด็กและตัวเต็มวัยที่จะอาศัยอยู่บนบก

ที่มา https://www.chula.ac.th/news/193893/?fbclid=IwY2xjawGC4e1leHRuA2FlbQIxMAABHZXIK6EPwjNrbz8iPdVWrxlsElZW_-GjMFxU9bzlLD2l9S22xiY7mTb7ew_aem_ZYdQo9GuagvVphB5eP5nAg

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม