วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 10:55 น.
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดภาพปรากฎการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งสุดท้ายของปี "หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อย"
15 ตุลาคม 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เก็บภาพปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" ครั้งสุดท้ายของปี เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด 15 ตุลาคม 2567
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งสุดท้ายของปี 2567 เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืด วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 02:19 - 03:00 น. (ในแต่ละพื้นที่มีช่วงเวลาการบังเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) ช่วงดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ มีดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดดาวเล็ก ๆ ใกล้กับดวงจันทร์ ขณะเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ฝั่งพื้นที่ผิวส่วนมืด เคลื่อนไปบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์ลับหายไป และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งด้านฝั่งเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเฉพาะภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่อื่นสังเกตเห็นเป็นปรากฏการณ์ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ สดร. ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีประชาชนให้ความสนใจติดตามชมจำนวนมาก
"ดวงจันทร์บังดาวเสาร์" เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เป็นมุมมองจากโลกในแนวสายตา เมื่อมองจากโลกออกไปจึงเห็นว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวเสาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง ในปี 2567 นี้ ในไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ 2 ครั้ง ครั้งแรก คืนวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่สอง คืนวันที่ 15 ตุลาคม 2567
สำหรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในเดือนตุลาคมที่น่าติดตามถัดจากนี้ ได้แก่ "ซูเปอร์ฟูลมูน" หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันออกพรรษา ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน นอกจากนี้ ยังมีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ปรากฏในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก ไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม ติดตามข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ