หน้าแรก > สังคม

กระทรวงสาธารณสุข เผยจังหวัดอุทัยธานี - กาฬสินธุ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น รพ.ปิดบริการ 3 แห่ง ประชาชนมีความเครียดสูง 106 ราย

วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 00:54


กระทรวงสาธารณสุข เผยจังหวัดอุทัยธานี - กาฬสินธุ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น รพ.ปิดบริการ 3 แห่ง ประชาชนมีความเครียดสูง 106 ราย

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ กระทรวงสาธารณสุข อัปเดตสถานการณ์อุทภภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อุทัยธานี-กาฬสินธุ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เผยโรงพยาบาลยังต้องปิดบริการ 3 แห่ง พร้อมเปิดศูนย์พักพิง 99 แห่ง ทีม MCATT ประเมินสุขภาพจิตประชาชน เครียดสูง 106 ราย เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17 ราย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทภภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 22/2567

โดยนพ.โสภณ กล่าวว่า โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ใหม่ใน อุทัยธานี และกาฬสินธุ์ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ภาพรวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 69 ราย บาดเจ็บสะสม 2,419 ราย และสูญหาย 2 ราย สถานบริการได้รับผลกระทบ 108 แห่ง ในจำนวนนี้ยังต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.ค่ายกาวิละ, รพ.เซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล จ.เชียงใหม่ และ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร มีการเปิดศูนย์พักพิง 99 แห่ง ผู้รับบริการ 1,995 ราย มากสุดอยู่ใน จ.เชียงใหม่ 71 แห่ง ผู้รับบริการ 1,606 ราย

สำหรับการดูแลประชาชนด้านสุขภาพจิต ข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ได้ออกประเมินสุขภาพจิตประชาชน 10,032 ราย พบผู้มีภาวะเครียดสูง 106 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 17 ราย หลังให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจแล้วมีผู้ที่ต้องส่งต่อพบแพทย์ จำนวน 18 ราย

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนปรุง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ติดตามดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด ขณะที่ จ.ลำพูน ซึ่งรับมวลน้ำจากเชียงใหม่ พบว่าเริ่มมีปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำเน่าเสีย ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งรังโรค ได้มอบให้กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการป้องกันโรคติดต่อนำโดยแมลงในพื้นที่ รวมทั้งให้กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีการเปิดศูนย์พักพิง ประสานความร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการบันทึกข้อมูลศูนย์พักพิงชั่วคราว ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง และดูแลด้านสุขาภิบาลต่อไป

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม