วันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 10:06 น.
10 ตุลาคม 2567 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงฝนตกเกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โรคฉี่หนูเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในไต และกระเพาะปัสสาวะของสัตว์นำโรคเช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผล รอยถลอก หรือผิวหนังที่แช่อยู่ในน้ำนานๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะเด็กที่ลุยน้ำ หรือเล่นน้ำที่ขังเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าว
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองตา
และเมื่อเป็นมากขึ้นจะพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายจะมีอาการไอเป็นเลือด หากมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไอเป็นเลือดที่รุนแรง การหายใจล้มเหลว หรือไตวาย อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานยาให้ครบและปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งโรคฉี่หนู สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบู้ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง
กรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม มีความจำเป็นต้องลงแช่น้ำ หรือลุยน้ำให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายทันที เพื่อลดระยะเวลาของการสัมผัสกับเชื้อ หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่รกสกปรกจนเป็นที่อยู่อาศัยของหนู รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และดื่มน้ำสะอาดต้มสุก หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการสงสัยโรคฉี่หนูให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต
สำหรับไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 2,926 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (ร้อยละ 20) และ 45-54 ปี (ร้อยละ 19.23) เสียชีวิต 29 คน อายุเฉลี่ย 49 ปี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 66 ของผู้เสียชีวิต มักเกิดจากการไปพบแพทย์ช้าหรือซื้อยามารับประทานเองก่อน