หน้าแรก > สังคม

“สมศักดิ์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข” จัดโครงการตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ ตั้งเป้าให้คลินิกอาชีวเวชกรรมเป็นศูนย์เชี่ยวชาญ อย่างน้อย 24 แห่งในปี 68

วันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 23:24 น.


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” ตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับสุขภาวะที่ไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมตั้งเป้าขับเคลื่อนคลินิกอาชีวเวชกรรมสู่การเป็นศูนย์เชี่ยวชาญ Medical Fitness to Drive ให้ได้อย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2568

(29 กันยายน 2567) ที่ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ (Medical Finess to Drive) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก อสม. ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะและประชาชน ร่วมงานประมาณ 1,000 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพอันดับ 1 จากการบาดเจ็บที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 18,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่และปัญหาสุขภาพหรือสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมต่อการขับขี่ จากข้อมูลคลินิกต้นแบบพัฒนาการตรวจประเมินสุขภาพในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้ทำการตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ จำนวน 2,161 คน พบว่า ร้อยละ 35.7 มีปัญหาสายตา/ตาบอดสี ร้อยละ 19.6 มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หอบหืด ภูมิแพ้ ร้อยละ 2.6 ตรวจพบรอยโรคทางปอด ร้อยละ 0.7 พบสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และโรงพยาบาลสุโขทัย จัดโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสุขภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการขับขี่ เพิ่มการเข้าถึงระบบบริการประเมินสมรรถนะทางสุขภาพในผู้ขับขี่ โดยใช้สุโขทัยโมเดลเป็นต้นแบบให้กับคลินิกอาชีวเวชกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

“กระทรวงสาธารณสุข จะขับเคลื่อนงานคลินิกอาชีวเวชกรรม สู่การเป็นศูนย์เชี่ยวชาญ Medical Fitness to Drive เพื่อตรวจประเมินความพร้อมทางสุขภาพผู้ขับขี่ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2568 เพื่อเป็นกลไกช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ลดความสูญเสียทั้งทางสุขภาพกาย ใจ สังคมและเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของโลก (Sustainable Development Gold : SDG) ที่ 3.6 คือ ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง” นายสมศักดิ์กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์จราจร และ 10 ราชวิทยาลัยทางการแพทย์ จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการประเมินสมรรถนะร่างกายในการขับขี่ และพัฒนาบุคลากรด้านเวชศาสตร์การจราจร ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมจัดตั้งคลินิกต้นแบบพัฒนาการตรวจประเมินสุขภาพในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก เพื่อขับเคลื่อนงานป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาอย่างต่อเนื่อง                                   
       
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ได้มีการมอบธงขับขี่ปลอดภัยและปล่อยขบวนคาราวาน “ขับขี่ปลอดภัย ไส่ใจสุขภาพ” ให้กับตัวแทน 9 อำเภอในจังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งบริการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมของภาวะสุขภาพของผู้ขับขี่ และออกใบรับรองแพทย์เพื่อต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ พร้อมทั้งมีบูธนิทรรศการให้ความรู้ตามนโยบายการขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพด้วย 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม