วันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 15:17 น.
หนานหนิง, 27 ก.ย. (ซินหัว) -- "ทุเรียนไทย" ของบูธเจดีดอตคอม (JD.com) ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ครั้งที่ 21 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ดึงดูดความสนใจจากผู้คน ซึ่งพานเจียวหลิง ซีอีโอของบริษัท กว่างซี ซื่อเหลียน ซับพลาย เชน จำกัด (Guangxi Shilian Supply Chain) ผู้ทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนไทยมานานเกือบ 15 ปี และรับผิดชอบการจัดจำหน่ายทุเรียนไทยที่บูธนี้ เผยว่าครั้งนี้นำทุเรียนมาจัดแสดงที่บูธไม่มากนักเพราะอยากผลักดันการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
พานกล่าวว่าบริษัทของเขานำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น ไม่ได้นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ โดยมีการนำเข้าทุเรียนไทยราว 50 ตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละเดือนในหน้าทุเรียนของไทย (เมษายน-มิถุนายน) พร้อมกับก่อสร้างโกดังเก็บความเย็นทั่วจีนที่เอื้อต่อการจำหน่ายทุเรียนไทยได้เกือบตลอดทั้งปี ส่วนหลังจากอีคอมเมิร์ซเติบโตมากขึ้น บริษัทของเขามุ่งเน้นการจำหน่ายทุเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีนอย่างจิงตงและโต่วอิน ขณะทุเรียนที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยแล้ว
พานเสริมว่าทุเรียนไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก ทำให้ธุรกิจนำเข้าทุเรียนไทยของพานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทของเขาซื้อทุเรียนจากเกษตรกรหรือสหกรณ์ทุเรียนของไทยเป็นหลัก และพานมองว่าตลาดทุเรียนของจีนยังเติบโตได้อีกมาก แต่ละปีที่ผ่านมาเติบโตระดับเลขสองหลัก ส่วนยอดขายของบริษัทของเขาเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน
ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าและผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยข้อมูลทางศุลกากรระบุว่าจีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 รวม 1.426 ล้านตัน ขณะปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2024 รวมอยู่ที่ราว 1.15 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยราว 6.97 แสนตัน ทำให้ไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของตลาดจีน
นอกจากทุเรียนไทยแล้ว งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 21 ยังมีทุเรียนนำเข้าจากมาเลเซียและเวียดนามด้วย โดยเดวิด เฉิน ประธานบริษัท ไห่หม่า ไบโอเทคโนโลยี (เทียนจิน) จำกัด และนักธุรกิจมาเลเซีย ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทุเรียน 2 สายพันธุ์ชั้นนำของมาเลเซีย ได้แก่ มูซานคิงและหนามดำ ที่พาวิลเลียนมาเลเซีย ต่อยอดจากการที่จีนทยอยนำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียชุดแรกราว 40 ตัน เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นทุเรียนของบริษัทของเขาราว 8 ตัน
รายงานระบุว่ามาเลเซียกลายเป็นประเทศอาเซียนแห่งที่ 4 ต่อจากไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่สามารถส่งออกทุเรียนสดสู่ตลาดจีน โดยมาเลเซียมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนอยู่ราว 90,000 เฮกตาร์ (ราว 5.6 แสนไร่) ที่สร้างผลผลิตปีละ 5-5.5 แสนตัน ทำให้อุตสาหกรรมทุเรียนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย ทว่าทุเรียนมาเลเซียครองส่วนแบ่งการส่งออกสู่ตลาดจีนไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งหมด ซึ่งต่างจากไทยและเวียดนาม
เฉินกล่าวว่าการที่จีนอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมทุเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรมทุเรียนมาเลเซีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างการเพาะปลูกทุเรียน และจะกระตุ้นเกษตรกรมาเลเซียหันมาเพาะปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ขณะปัจจุบันมาเลเซียขนส่งทุเรียนสู่จีนทางอากาศเท่านั้นเพื่อรักษารสชาติ และทุเรียนสดจากมาเลเซียเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะตัวอย่างกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์
ขณะเดียวกันทุเรียนจากเวียดนามดึงดูดความสนใจจากผู้เดินชมพาวิลเลียนเวียดนามของงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 21 ไม่แพ้กัน โดยไช่เจิ้นอวี่ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่าทุเรียนเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดจีนตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการจัดจำหน่ายคนละช่วงเวลากับทุเรียนไทย
อนึ่ง เฝิงเสวียเจี๋ย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยผลไม้เขตร้อน สังกัดสถาบันเกษตรศาสตร์มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทุเรียนกลุ่มแรกของจีน มองว่าปัจจุบันการค้าทุเรียนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับจีนมีลักษณะเหมือน "หม้อสามขา" แบ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักอย่างไทย ผู้มีข้อได้เปรียบบางประการอย่างเวียดนาม และผู้ค้าหน้าใหม่อย่างมาเลเซีย พร้อมคาดการณ์ว่าปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนจะสูงถึง 3 ล้านตันต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า