หน้าแรก > สังคม

รัฐบาลเดินหน้า “30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่” นำร่องจาก 4 จังหวัด ขยายสู่ 46 จังหวัด

วันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 13:04 น.


รัฐบาลเดินหน้า “30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่” นำร่องจาก 4 จ. ขยายสู่ 46 จ. ตั้งเป้าปี 67 ขยายให้ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อคนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ย้ำกรุงเทพฯ มองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ เข้ารับบริการได้ทันที

วันนี้ (27 กันยายน 2567) เวลา 10.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบโล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ให้กับผู้แทน 7 หน่วยบริการนวัตกรรม ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภากายสภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และสภาการแพทย์แผนไทย และกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” โดยเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับฟังจากบิดา คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคนเดินมาหาและถอดเสื้อออก โชว์แผลผ่าตัดหัวใจ ขนาดใหญ่มากตรงหน้าอก ซึ่งการผ่าตัดใหญ่ทั้งหมดนี้จ่ายเงินแค่ 30 บาทเท่านั้น นี่คือเรื่องจริงของนโยบายที่สามารถช่วยชีวิตของผู้คนได้ และถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ผ่านมา 23 ปี ถึงเวลาแล้วที่จะยกระดับไปอีกขั้น จาก “30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่” ซึ่งตอนนี้ขยายมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือ ต้องการฉีดวัคซีน ต่อไปไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล หรือเสียเงินไปหาหมอที่คลินิคอีก สามารถใช้บริการสถานบริการ หรือคลีนิคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลา สะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนต่างจังหวัดไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ แต่ไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 7,000 แห่งหรือโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอกว่า 800 แห่ง ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรีระบุ ต่อไปนี้ ทุกคนที่ถือสิทธิ์ “30 บาท รักษาทุกที่” ในกรุงเทพมหานคร ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเข้าไปหาหน่วยบริการสาธารณสุขได้เลย เช่น ร้านยาใกล้บ้าน คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน คลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน รถโมบายตรวจเลือด ที่บางครั้งจะเข้าไปให้บริการในชุมชน ตู้คิออสในห้างหรือสถานีรถไฟฟ้า ที่สามารถเข้าไปปรึกษาคุณหมอผ่านเทเลเมดิซีนได้เลย และมีหน่วยบริการอื่น ๆ ใกล้บ้านอีกหลายแห่ง แค่มองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ก็เข้ารับบริการได้ทันที ไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินงานมาตลอด 8 เดือนของ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยผลงาน คือ 1 ใน 4 ของ ของผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่คลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนการมาที่โรงพยาบาล ลดความแออัด ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ย 160 บาท/ครั้ง ลดระยะเวลารอในโรงพยาบาลลงถึง 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมง เหลือประมาณ 1 ชั่วโมง เท่านั้น ที่สำคัญพี่น้องประชาชน ผู้รับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้เป็นอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีเผย จังหวัดนำร่อง “30 บาทรักษาทุกที่” ได้เริ่มต้นครั้งแรก ในวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่อง และได้ขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 41 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 45 จังหวัด และในวันนี้ (27 กันยายน 2567) จะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้ว่า “เรา” ทุกภาคส่วน รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ สภาวิชาชีพทางการแพทย์ หน่วยบริการภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทำให้กรุงเทพมหานคร อยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้านได้สำเร็จ ทำให้ 30 บาทรักษาทุกที่ ขยายสู่ 46 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจได้ว่า ภายในปี 2567 นี้ รัฐบาลจะสามารถขยาย “30 บาทรักษาทุกที่” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วทั่วประเทศไทย เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล และขอย้ำอีกครั้ง สำหรับคนกรุงเทพฯ อย่าลืมมองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ นั่นคือเป็นหน่วยบริการที่ทุกท่านเข้าไปใช้บริการได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันทำพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดย นายกรัฐมนตรีได้มอบรถเข็น (Wheel Chair) ให้กับตัวแทนผู้ป่วยจำนวน 7 คน บริเวณด้านหน้านิทรรศการ 30 บาทรักษาทุกที่ และเดินเยี่ยมชมนิทรรศการและนวัตกรรมบริการปฐมภูมิสาธารณสุขวิถีใหม่ ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ชั้น 2 ด้วย

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม