หน้าแรก > สังคม

อัปเดต "ธันวา" ลูกช้างป่า ยังมีเรี่ยวแรงคงที่ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 90.6 กก.

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 06:57 น.


20 ธันวาคม 2565 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ปิดเผยว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้รายงานการดูแลรักษาช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง มีอาการป่วยและบาดเจ็บ ชื่อ ธันวา เพศเมีย โดยสัตวแพทย์ ประกอบด้วย สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และ สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า 

ลูกช้างถ่ายอุจจาระเป็นเนื้อครีม ปัสสาวะปกติ ยังเน้นการป้อนน้ำ และเกลือแร่ให้ถี่ขึ้น ไม่สามารถให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหูได้ เนื่องจากได้ทำการให้สารน้ำทุกวันผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู ส่งผลให้เส้นเลือดเสียหาย ต้องรอการหายดีของเส้นเลือด ประมาณ 3-5 วัน

อาหารให้กินน้ำต้มข้าว เนื้อข้าวต้มเปื่อย และผสมนมผงชนิด EMR (ค่อยๆผสมทีละน้อย)  ทุก 3 ชั่วโมง (น้ำข้าวต้ม 500 มิลลิลิตร และ เนื้อข้าวต้ม 16 ช้อน ต่อ 1 มื้อ นมผง ปริมาณ 2 กรัม) ทำการให้ยาฆ่าเชื้อแบบกิน ทำการวิตามินแบบกิน ให้กินน้ำผึ้ง ทำการให้ยาลดกรด เอนไซน์ช่วยย่อยอาหาร และยาขับลมแบบกิน ยังคงต้องใช้การพยุงตัวช่วยในการลุก นั่ง ยืน เดิน ลูกช้างมีเรี่ยวแรงและกำลังมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น (มีการพยุงตัวช่วย) ทำการชั่งน้ำหนัก พบว่า ลูกช้างป่าธันวามีน้ำหนัก 90.6 กิโลกรัม ทำแผลบริเวณลำตัว ทาน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นรักษาแผลและเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว และทำการเลเซอร์รักษาแผลบริเวณลำตัว เพิ่มเติม  

ตั้งแต่เวลา 00.00 - 08.00 น. ลูกช้างถ่ายอุจจาระเหลวเล็กน้อย เป็นเนื้อครีม ปัสสาวะ ปกติ มีเรี่ยวแรงคงที่ เหมือนวันที่ 19 ธ.ค. 2565 และพบว่าช่วงเวลา 03.00 - 06.00 น. ลูกช้างป่านอนหลับไม่เต็มที่ จึงปล่อยให้พักนอนให้เต็มที่ ก่อนปล่อยเดินสนามหญ้า ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิต ปชส.กรมอุทยานแห่งชาติฯ , สวนสัตว์บึงฉวาก

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม