หน้าแรก > สังคม

"อนุทิน" ยืนยันเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" เต็มที่ ด้าน กก.โรคติดต่อฯ เตรียมหารือวันพรุ่งนี้!

วันที่ 1 มีนาคม. 2566 เวลา 14:44 น.


"อนุทิน" ยืนยันเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" เต็มที่ ด้าน กก.โรคติดต่อฯ เตรียมหารือวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.66) ด้าน อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยกระจาย "วัคซีนไฟเซอร์" 2 สายพันธุ์แล้ว 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการรับมือโรคไข้หวัดนก (H5N1) ที่มีรายงานพบผู้เสียชีวิตที่ประเทศกัมพูชาแล้ว 1 ราย โดยระบุว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค ได้เตรียมการเต็มที่ มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (อีโอซี) ภายในกรมควบคุมโรค แต่ยังไม่ยกระดับถึงขั้นโรคโควิด-19 หรือโรคไข้หวัดนกช่วงก่อนหน้านี้ที่ต้องประชุมทุกเช้า เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ความพร้อมของทรัพยากร และความรู้ของเราที่มีสามารถใช้ป้องกันโรคได้ อะไรที่ควรจะเน้น เราก็มาประมวลกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงภาพรวมโรคโควิด-19 ระบุว่า ขณะนี้ดีขึ้น ทั้งผู้ป่วยใหม่ ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ในที่ประชุมผู้บริหาร สธ. เห็นว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบญาติผู้ใหญ่ จึงฝากเตือนประชาชนกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ที่ยังพบว่าร้อยละ 60-70 ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังสูง เพราะรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียง 2 เข็ม หรือไม่ได้เลย

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้กระจายวัคซีนและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ไปในพื้นที่แล้ว จึงขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุมารับวัคซีน นอกจากนั้น เชิญชวนสถานประกอบการดูแลสูงวัย เข้าร่วมรณรงค์การฉีด LAAB ด้วย ส่วนวัคซีนไฟเซอร์รุ่นที่ 2 ที่เป็นชนิดรวม 2 สายพันธุ์ (Bivarent) สัปดาห์นี้กระจายไปทุกจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชนแล้ว สามารถใช้ในลักษณะเข็มกระตุ้นได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพต่างจากรุ่นเดิมเล็กน้อย ประชาชที่สนใจจึงสามารถเลือกรับได้ทั้ง 2 แบบ

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังได้กล่าวอีกว่า วันที่ 2 มีนาคม 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการพูดถึงโรคไข้หวัดนกด้วย ทั้งนี้ หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้รับรายงาน เราก็เฝ้าระวังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  เฝ้าระวังร่วมกับจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ให้มีการตรวจตราผู้เดินทาง และร่วมกับกรมปศุสัตว์ดูแลการนำเข้าสัตว์จากชายแดน ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามสัตว์ป่วยในพื้นที่ โดยเฉพาะสัตว์ปีก

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม