หน้าแรก > สังคม

ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" มีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือตั้งแต่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป

วันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 09:04 น.


25 กันยายน 2567  ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย หญิง โดยให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแก้ไขคำว่า ชาย และ หญิง เป็น บุคคล และเรียกคู่สามี-ภรรยา เป็น คู่สมรส

นอกจากนี้ปรับอายุขั้นต่ำ การหมั้น สมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี  และคนไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทยได้ รวมทั้งรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่า

ทั้งนี้ กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า “อีกก้าวสำคัญของสังคมไทย กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วครับ ความเสมอภาคและเท่าเทียมเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ความหลากหลายทางเพศสภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่เสียทีครับ ยินดีด้วยครับ”

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) เช่นกันว่า “แด่ทุกความรัก… ยินดีกับความรักของทุกคนค่ะ #LoveWins ขอบคุณการผลักดันจากทุกภาคส่วน เป็นการต่อสู้ร่วมกันของทุกคนค่ะ #สมรสเท่าเทียม”

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม