หน้าแรก > การเมือง

พม. ช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบาง ประสบภัยพิบัติ เหนือ-อีสาน ด้าน พอช. เคาะ พักชำระหนี้ 3 เดือน ให้สมาชิก 8 จว. เสียหายจากยางิ

วันที่ 24 กันยายน 2567 เวลา 11:30 น.


วันนี้ (24 ก.ย.67)  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศรส. พม. รายงานการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในสถานการณ์ภัยพิบัติ 

ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 23 กันยายน 2567 พบว่า มีพื้นที่ 33 จังหวัด (จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ตาก ปราจีนบุรี หนองคาย นครพนม บึงกาฬ  สุโขทัย แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี ลำปาง หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน น่าน นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ยะลา ระยอง พะเยา พังงา ตรัง สตูล ชุมพร ลำพูน ปทุมธานี และสุราษฎร์ธานี) 96 อำเภอ 367 ตำบล 2,009 หมู่บ้าน 71,894 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ

โดยพบว่ามีประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ จำนวน 48,110 ครัวเรือน 56,110 ราย แบ่งเด็ก 7,400 ราย เยาวชน 5,391 ราย คนพิการ 9,912 ราย ผู้สูงอายุ 29,092 ราย และผู้มีรายได้น้อย 5,168 ราย

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม.ให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว 13,157 ราย โดยช่วยเป็นเงินสงเคราะห์ต่างๆ 5,337 ครอบครัว การให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ 5,152 ราย การซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย 50 ราย และการกำพร้า 6 ราย อีกทั้งศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. มอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชน อาทิ แพ็มเพิสสำหรับผู้สูงอายุ ข้าวกล่อง น้ำดื่ม ยารักษาโรค กายอุปกรณ์สำหรับคนพิการ เครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้เฉพาะตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ไม้เท้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สุขาเคลื่อนที่ และมีการตั้งโรงครัว จำนวน 21 โรงครัว ร่วมกับทางจังหวัด ที่จังหวัดน่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ยังได้เปิดพื้นที่ของหน่วยงาน โดยทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัด จำนวน 16 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว รองรับผู้ประสบภัย รวม 42 แห่ง แบ่งเป็น 1) ภาคเหนือ จำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน  และแพร่  

และ 2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย  เลย มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี นครพนม ขอนแก่น และอุดรธานี นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ได้มีการประชุมคณะกรรมการ พอช. ครั้งที่ 10/2567 และมีมติเห็นชอบเรื่อง การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่องค์กร (สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้านเรือนของสมาชิกได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุยางิ 

สถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 29 องค์กร 6,434 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด เชียงราย พะเยา แพร่ เลย หนองคาย นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยเมื่อ พอช. ออกประกาศในสัปดาห์หน้าแล้ว องค์กรที่เดือดร้อนสามารถยื่นความประสงค์เข้ามาได้เลย เสนอขอพักได้ไม่เกิน 3 เดือนในรอบนี้นับแต่วันที่ประสงค์ขอพัก และหากมีพื้นที่อื่นๆ ได้รับผลกระทบเพิ่มก็จะเสนอคณะกรรมการ พอช. ขอเพิ่มพื้นที่ออกไป

นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ล่าสุดจากที่สถานการณ์ของน้ำป่าไหลหลากที่จังหวัดลำปาง ทางพม.จังหวัดลำปางนั้น ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ไปกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวง พม. เราไม่มีอุปกรณ์ และเครื่องมือ ต้องตามหน่วยงานอื่นที่มีอุปกรณ์เข้าไปพื้นที่ เพื่อจะไปดูเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาเบื้องต้น ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

สำหรับในส่วนของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ไปพบมานั้น เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ดังนั้นการทำงานในช่วงที่เกิดวิกฤติเช่นนี้หลังน้ำลดแล้ว ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจของทุกคน โดยตนได้ให้กำลังใจกับพี่น้องประชาชนและที่สำคัญได้ให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเราได้เห็นน้ำใจหลั่งไหลไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้น ต้องขอขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ รวมถึงวัดที่ได้เปิด พื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าไปหลบภัย

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะน้ำที่ท่วมในปีนี้เป็นน้ำโคลน 100% แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในตอนที่อยู่บนเทือกเขาต่างๆนั้น ไม่ได้เจอต้นไม้ หรือพืชคลุมดินเลย เจอแต่ดินล้วนๆทำให้น้ำฝนทั้ง 100% ที่ตกลงมานั้น จะไม่ได้มีการซึมซับ แล้วยังล้างเอาหน้าดินจนกลายเป็นดินโคลนลงมาในแม่น้ำเอ่อล้นทะลักเข้ามาทำความเสียหายให้กับบ้านเรือนพี่น้องประชาชน

จึงขอฝากพี่น้องประชาชนทุกๆ พื้นที่โดยเฉพาะที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำหรือว่าต้นน้ำ ให้รักษาพื้นที่สีเขียว และช่วยกันปลูกต้นไม้คลุมดิน ตนเป็นห่วงว่าในอนาคตปีถัดไปสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในปีนี้จะซ้ำรอยอีก ถ้าหากว่าเราไม่เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งหน่วยราชการอย่างกระทรวง พม. ด้วย เพื่อที่ว่าเวลาเกิดปัญหาภัยพิบัติเช่นนี้จะได้ไม่รุนแรง และจะได้บรรเทาความเดือดร้อน บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม