วันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 14:10 น.
รมช. พณ. สุชาติ ชื่นชมการเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน รอบที่ 2 คืบหน้ารวดเร็ว พร้อมมั่นใจว่าการเจรจาจะสามารถบรรลุผลสำเร็จภายในปี 2568 ตามเป้าหมาย เสริมโอกาสการค้าไทย-ภูฏาน และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันในระยะยาว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากได้ให้การต้อนรับนายโซแนม เชอริง ดอร์จิ หัวหน้าคณะเจรจาของภูฏาน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ในโอกาสที่นำคณะเจรจาเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 กันยายน ที่กรุงเทพฯ ว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ให้ดูแลงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของประเทศ นั้น ได้ติดตามและรับทราบถึงความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบที่ 2 ซึ่งครอบคลุมประเด็นการค้าสินค้าเป็นหลัก โดยในการเจรจารอบนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาร่างความตกลง FTA ได้หลายหัวข้อ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภูฏาน โดยภูฏานจะเป็นเจ้าภาพประชุมเจรจารอบต่อไปในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีนี้
“ผมขอชื่นชมคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายที่สามารถขับเคลื่อนการเจรจาได้อย่างรวดเร็ว จึงมั่นใจว่าการเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน จะบรรลุผลสำเร็จได้ภายในกลางปีหน้า ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การนำของท่านพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งรัดการเจรจา FTA รวมทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์และเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ” นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติ เพิ่มเติมว่า ไทยและและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในทุกระดับ ทั้งนี้ ตนได้แสดงความยินดีที่ภูฏานได้รับการปรับสถานะสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งสะท้อนให้ถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภูฏาน โดยภูฏานเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลายของสินค้าส่งออกและแสวงหาคู่ค้าใหม่ ๆ ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับต้นของภูฏาน และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวภูฏานเป็นอย่างมาก ซึ่ง FTA ไทย-ภูฏาน ก็จะช่วยให้ชาวภูฏานเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษี และเป็นกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและภูฏาน มีมูลค่า 640.23 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 638.03 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 2.20 ล้านบาท โดยในช่วง 7 เดือน (ม.ค.–ก.ค. 2567) การค้าสองฝ่าย มีมูลค่า 523.51 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 522.63 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.87 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผ้าผืน ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้แห้ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ ยางสำหรับอากาศยาน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ศิลปกรรม และถั่งเช่า
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน